โรคตับแข็ง (cirrhosis) กับพฤติกรรมต้องที่ต้องระวัง

ภาวะตับแข็ง (cirrhosis) เป็นภาวะที่เซลล์ตับเกิดพังผืดขึ้น ทำให้ลักษณะของเซลล์ตับที่ควรจะนิ่มกลายเป็นเป็นก้อนและแข็งขึ้นแบบถาวร ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับลดลง เมื่อตับไม่สามารถทำงานได้เช่นเดิมก็ทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเรามีประสิทธิภาพการทำงานลดลงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ถ้าหากพบว่าเป็นโรคตับแข็งแล้วไม่รีบรักษา หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อาจจะนำไปสู่โรคมะเร็งตับได้ ซึ่งเราก็รู้ดีกันอยู่แล้วว่าโรคมะเร็งตับนั้นเป็นโรคร้ายแรง และมีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในประเทศไทย

ตับแข็งเป็นโรคที่ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย เพราะโรคชนิดนี้ทำให้ตับเกิดความเสียหายแต่ว่าไม่มียาหรือวิธีรักษาใดๆ ที่จะรักษาตับให้กลับมาเป็นปกติได้ ผู้ป่วยจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับตับที่ไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพเช่นเดิมไปตลอดชีวิต ดังนั้น คนส่วนมากจึงพยายามหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะคิดว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตับเกิดการอักเสบจนเกิดพังผืดขึ้นที่เซลล์ตับนั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ทุกคนคิดว่าการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เป็นโรคตับแข็งเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้เสี่ยงโรคตับแข็ง เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่กระตุ้นให้ตับเกิดการอักเสบจนทำให้ตับกลายเป็นพังผืดขึ้น สำหรับปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคตับแข็ง มีดังต่อไปนี้

พฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเพิ่มโอกาสการเกิดโรคตับแข็ง

1. การทานอาหารที่มีไขมัน คาร์โบไฮเดรต คอเลสเตอรอล และน้ำตาลในปริมาณที่สูง

สำหรับอาหารที่มีไขมัน คาร์โบไฮเดรต คอเลสเตอรอล และน้ำตาลในปริมาณที่สูง เช่น ชีส อาหารทะเล เนย กะทิ น้ำหวาน ฯลฯ การทานพวกนี้เป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้เป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ (NAFLD) ส่งผลให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบจนกลายเป็นพังผืด

2. การสัมผัสกับสารพิษ

สำหรับการสัมผัสกับสารพิษในที่นี้หมายถึง การทาน การดื่ม การสูดดม และการสัมผัส การที่ร่างกายของมนุษย์ได้รับสารพิษอันตรายเข้าร่างกายมากเกินไป ส่งผลให้ตับที่มีหน้าที่กำจัดสารพิษออกจากร่างกายทำงานหนักจนเกินไป ทำให้ตับเกิดการอักเสบจนกลายเป็นพังผืดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตับทำงานหนักเกินไป เราสามารถป้องกันร่างกายไม่ให้สัมผัสสารพิษมากเกินไป ดังนี้

  • การทานผักและผลไม้ เมื่อทานผักและผลไม้ทุกครั้งควรล้างให้สะอาด ทางที่ดีหาซื้อผักและผลไม้ที่เป็นออร์แกนิคจะได้ปลอดภัยต่อร่างกายมากที่สุด
  • การดื่ม สำหรับการดื่มในที่นี้หมายถึงการดื่มเครื่องดื่มทุกชนิด ควรเลือกดื่มน้ำจากแหล่งที่สะอาด หรือมีบรรจุภัณฑ์ครบ
  • การสูดดม ใช้อุปกรณ์ป้องกันสารพิษ เช่น หน้ากากกรองก๊าซไอระเหย ฯลฯ
  • การสัมผัส ใช้อุปกรณ์ป้องกันสารพิษ เช่น ถุงมือกันสารเคมี รองเท้าชนิดต้านสารเคมี ชุดป้องกันสารเคมี หน้ากากป้องกันสารเคมี เป็นต้น

3. การรับประทานยาติดต่อกัน

การทานยาไม่ว่าจะเป็นยาแผนโบราณ หรือว่ายาแผนปัจจุบัน เมื่อเราทานยาเป็นระยะเวลานาน ทานยาพร่ำเพรื่อแม้จะไม่เจ็บป่วยก็กินยาดักไว้ก่อน การทำพฤติกรรมเช่นนี้ติดต่อกันในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตับอาจจะเสียหายไม่มาก สามารถฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่ถ้าหากตับได้รับยาในปริมาณมาก ในระยะเวลานานติดต่อกัน ก็จะทำให้ตับทำงานหนัก เพราะตับมีหน้าที่กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย จึงส่งผลให้ตับอักเสบและเป็นพังผืดในที่สุด

4. การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย

การไม่ใส่ถุงยางอนามัยจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดไวรัสเอชไอวี (HIV) เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว แต่บางคนไม่รู้ว่าการไม่ใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคตับแข็งด้วย เพราะโรคตับแข็งนั้นเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และไวรัสตับอักเสบชนิดซี เป็นไวรัสที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์จากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ถ้าไม่อยากเป็นโรคตับแข็งควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งในขณะที่มีเพศสัมพันธ์

ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรค เพียงแค่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเพียงแค่ไม่กี่อย่าง ก็สามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคตับแข็งได้เป็นอย่างมาก

สอบถาม