ทำไมไวรัสตับอักเสบบีจึงอันตรายที่สุด?

ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) เป็นไวรัสที่ส่งผลต่อตับเป็นหลักทำให้ตับเกิดการอักเสบและการติดเชื้อ สำหรับประเภทของไวรัสตับอักเสบมีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่

  • ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A virus; HAV) ติดผ่านทางน้ำลาย จากการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ หรือจากการสัมผัสสิ่งสกปรกที่ติดเชื้อไวรัส
  • ไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B virus; HBV) ติดต่อผ่านทางเลือดหรือผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  • ไวรัสตับอักเสบชนิดซี (Hepatitis C virus; HCV) ติดต่อผ่านทางเลือดหรือผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  • ไวรัสตับอักเสบชนิดดี (Hepatitis D virus; HDV) ติดต่อจากการสัมผัสเลือดหรือของเหลวของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  • ไวรัสตับอักเสบชนิดอี (Hepatitis E virus; HEV) ติดต่อกันทางช่องปากหรืออุจจาระ

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบจำนวนผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบทั้งหมด 354 ล้านคนจากประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือรายได้ปานกลางที่จะมีผู้ป่วยและมีอัตราผู้เสียชีวิตที่ค่อนข้างสูง สำหรับไวรัสตับอักเสบที่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด คือ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี (HBV) ที่มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ

สาเหตุที่ทำให้โรคไวรัสตับอักเสบบี (HBV) เป็นโรคที่อันตรายที่สุด

โรคไวรัสตับอักเสบบี (HBV) เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะติดเชื้อผ่านทางเลือดหรือทางเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะทำให้ตับเกิดการอักเสบ และภาวะของตับอักเสบมี 2 แบบ คือ

  • ตับอักเสบแบบเฉียบพลัน (acute hepatitis) สำหรับตับอักเสบแบบเฉียบพลันผู้ป่วยจะแสดงอาการเร็ว และอาการที่จะแสดงออกมาจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคนว่ามีความแข็งแรงมากแค่ไหน ผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบแบบเฉียบพลันยิ่งตรวจโรคพบและทำการรักษาได้เร็วยิ่งดี เพราะอาการของโรคก็จะไม่รุนแรงและสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 6 เดือน
  • ตับอักเสบแบบเรื้อรัง (chronic hepatitis) ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีร้อยละ 80 เป็นตับอักเสบเรื้อรัง สำหรับผู้ป่วยในระยะแรกแทบจะไม่มีอาการอะไรทั้งสิ้นภายนอกร่างกายดูสมบูรณ์แข็งแรง แต่ภายในร่างกายตับได้ถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนทำให้กลายเป็นพังผืดที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เมื่อพังผืดขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นก็กลายเป็นโรคตับแข็ง และถ้าไม่รีบรักษามีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็นมะเร็งตับ

ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีจำนวนมาก และผู้ป่วยส่วนมากไม่แสดงอาการ เพราะโรคไม่แสดงอาการทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไม่ป้องกันหรือไม่ระวังตัวเองในการใช้ชีวิต จึงได้เอาเชื้อไปแพร่ให้แก่คนอื่นไปเรื่อยๆ แถมผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบียังมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะตับอักเสบแบบเรื้อรังมากกว่าตับอักเสบชนิดอื่นๆ และเมื่อเป็นตับอักเสบแบบเรื้อรังก็ทำให้โอกาสในการเป็นตับแข็งและมะเร็งตับยิ่งสูงมากเท่านั้น เพราะเหตุนี้เองโรคไวรัสตับอักเสบบีจึงเป็นโรคที่ทั่วโลกเฝ้าระวัง เนื่องจากว่าผู้ป่วยมีโอกาสในการเสียชีวิตสูงมากๆ เมื่อเทียบกับโรคไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ

สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบบี

  • เกิดจากการสัมผัสเลือดของผู้ป่วย
  • ติดต่อจากแม่สู่ลูก
  • ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  • ติดต่อผ่านการใช้เข็มฉีดยา การสัก การใช้มีดโกนร่วมกัน

แนวทางป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีให้กับทุกคน
  • ตรวจสุขภาพประจำปี
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบบีถ้าหากยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
  • หลีกเลี่ยงการแบ่งปันของใช้ส่วนตัวให้กับผู้อื่น เช่น แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ ที่โกนหนวด เครื่องสัก ฯลฯ
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
สอบถาม