PM 2.5 ฝุ่นละอองตัวร้าย ส่งผลกระทบต่อตับอย่างไร?

PM 2.5 มีชื่อเต็มว่า Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กเพียง 2.5 ไมครอน เป็นหนึ่งในฝุ่นละอองที่ใช้สำหรับวัดคุณภาพอากาศว่าอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

จากข้อมูลของดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ได้แบ่งระดับความรุนแรงของคุณภาพอากาศ ดังนี้

  • 0-50 ดี
  • 51-100 ปานกลาง
  • 101-150 มีผลกระทบต่อผู้ป่วยหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ
  • 151-200 มีผลกระทบต่อทุกคน
  • 201-300 มีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง
  • 300+ อันตราย

PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่ทำลายสุขภาพได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ มีคนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ องค์การอนามัยโลกจึงได้ทำการกำหนดมาตรฐาน PM 2.5 เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ และหาวิธีแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้อยู่ในระดับที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพนั่นเอง สำหรับค่า PM 2.5 ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีจะต้องไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้แล้วประเทศไทยของเราก็ได้กำหนดค่ามาตรฐานของ PM 2.5 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิประเทศ ตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือ ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีจะต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถ้ามากกว่าที่กำหนดหมายความว่าอันตรายต่อสุขภาพ

สาเหตุที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5

  • เกิดจากการไฟป่า หรือการเผาป่า เผาทุ่งนาเพื่อทำเกษตร
  • เกิดจากควันท่อไอเสียจากรถประเภทต่างๆ ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
  • เกิดจากการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
  • เกิดจากการผลิตไฟฟ้า

PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อตับอย่างไร?

ผลกระทบของ PM 2.5 ไม่ได้อันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบหายใจเพียงเท่านั้น เพราะอวัยวะสำคัญอย่าง “ตับ” ก็ได้รับผลกระทบจากการสูดดมฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีค่าความเข้มข้นสูงเกินมาตรฐานเช่นเดียวกัน ด้วยขนาดฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมากๆ เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปากและทางจมูกก็จะเข้าสู่ปอด และเข้าไปลึกถึงตับ เมื่อฝุ่นละออง PM 2.5 เข้ามาถึงตับแล้วจะกระตุ้นให้โปรตีนที่มีชื่อว่า TGF-B ซึ่งเป็นโปรตีนที่กระตุ้นการเกิดพังผืดในตับให้ทำงานหนักมากขึ้น ส่งผลให้โปรตีน TGF-B สร้างคอลลาเจนมาและหลอดเลือดมากเกินปกติ จนก่อให้เกิดตับอักเสบขึ้นมา เมื่อตับเกิดการอักเสบก็จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดพังผืดบนเนื้อตับ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคตับชนิดต่างๆ มากมาย เช่น โรคตับอักเสบ โรคมะเร็งตับ โรคตับแข็ง เป็นต้น

ถึงแม้ว่าฝุ่นละออง PM 2.5 จะอันตรายต่อสุขภาพแค่ไหนก็ตาม มันก็เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากเรายังต้องใช้ชีวิตทำงานหาเงิน หรือเรียนหนังสือกันอยู่ เราทำได้เพียงแค่ดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดี ใส่หน้ากากอนามัยในวันที่ค่าฝุ่นนั้นสูงเกินไป พร้อมกับตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจเช็กว่าร่างกายของเรายังแข็งแรงอยู่รอดปลอดภัยจากฝุ่น

สอบถาม