ทำงานหนัก นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ อันตรายกว่าที่ทุกคนคิด!

ในวันที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีอาการเจ็บป่วย หลายคนใช้ชีวิตแบบสุดเหวี่ยง เที่ยวโต้รุ่ง ดื่มแอลกอฮอล์ ทำงานข้ามวันข้ามคืน อดหลับอดนอนโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มวัยเรียนและกลุ่มวัยทำงาน เพราะคิดว่าร่างกายแข็งแรงไม่เป็นอะไร ค่อยดูแลรักษาสุขภาพทีหลังก็ไม่เสียหาย เนื่องจากอายุยังน้อยมีเวลาดูแลสุขภาพอีกนาน ใครที่มีความคิดแบบนี้อยู่ขอให้หยุดคิดในทันที เพราะการใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงจนพักผ่อนไม่เพียงพอนั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่ศีรษะจนถึงเท้าเลยล่ะ

ความเสี่ยงจากการ นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร?

การที่เราทำงานหนัก เที่ยวหนัก จนทำให้ “นาฬิกาชีวิตรวน” ไปจากปกติ เวลาที่ควรนอนกับไม่นอน แต่เวลาไม่ควรนอนกับง่วงนอนไม่อยากตื่น การทำพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ส่งกระทบต่อการทำงาน/เรียนในเวลาช่วงกลางวัน จากการง่วง เบลอ ไม่มีสมาธิทำงาน/เรียน รู้สึกอ่อนเพลียเท่านั้น การนอนดึกจนนาฬิกาชีวิตรวนยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวมากมาย เช่น

1. โรคตับ

ถ้าคุณไม่ดูแลสุขภาพตัวเองเที่ยวหนัก ทำงานหนัก จนทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอนั้น อาจจะทำให้คุณเสี่ยงต่อภูมิคุ้มกันลดต่ำลง เมื่อภูมิคุ้มกันลดต่ำลงนั่นหมายความว่า “โอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียจะเพิ่มสูงขึ้น” เช่น ไวรัสตับอักเสบ เป็นไวรัสที่ทำให้ตับเกิดการอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังส่วนมาก มักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตับของตัวเองได้รับความเสียหาย กว่าจะรู้ตัวว่าป่วยอีกทีตับก็เสียหายจนไม่สามารถรักษาได้ แถมยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับร้ายแรงอีก เช่น โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ เป็นต้น

2. โรคเบาหวาน

เมื่อคุณนอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากจะทำให้นาฬิกาชีวิตรวนแล้ว ยังทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสและระดับอินซูลินในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย แถมในงานวิจัยยังพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวาน แต่มีพฤติกรรมการนอนดึก ไม่ดูแลสุขภาพของตัวเอง อาจจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) ได้ด้วย

3. สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง

เมื่อเรานอนไม่หลับ เพราะคุ้นชินกับการนอนดึกมาเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่จะหลั่งเวลากลางคืนมีการหลั่งลดน้อยลง ทำให้ความต้องการทางเพศของผู้ชายนั้นต่ำลงไปด้วย

4. ภาวการณ์ขาดโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone)

ในช่วงเวลาที่เรานอนหลับเป็นช่วงเวลาแห่งการผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต สำคัญต่อเด็กที่อยู่ในวัยเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก แต่ถ้าคุณนอนน้อยเกินไปร่างกายก็จะหลั่งโกรทฮอร์โมนออกมาน้อย ทำให้การเจริญเติบโต พัฒนาการทางด้านความสูง พัฒนาทางด้านกล้ามเนื้อของเด็กนั้นช้าไม่เหมาะสมตามวัย

การนอนหลับถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญต่อใช้ชีวิตของมนุษย์ ไม่แพ้การออกกำลังกาย และการทานอาหารที่มีประโยชน์เลย ดังนั้นแล้วทุกคนควรให้ความสำคัญกับการนอนมากกว่านี้ เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

สอบถาม