ไม่ดื่มก็เป็นโรคตับแข็งได้

เมื่อพูดถึงแอลกอฮอล์เรามักจะคิดถึงเครื่องดื่มประเภทมึนเมา เช่น เบียร์ ไวน์ สุรา บรั่นดี วิสกี้ ฯลฯ สำหรับประเภทของแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล แอลกอฮอล์ถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่ส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อร่างกาย แต่ถึงอย่างนั้นแอลกอฮอล์ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะรสชาติที่อร่อยและช่วยให้ผู้ดื่มรู้สึกผ่อนคลายสมอง

แอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร?

เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในร่างกายแล้วแอลกอฮอล์จะไหลเข้าสู่กระแสเลือด จึงทำให้ผู้ดื่มรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกสบายสมอง รู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา แต่ในขณะเดียวกันการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ผู้ดื่มมีประสิทธิภาพในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ลดน้อยลงกว่าเดิม ยิ่งดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่สูงยิ่งทำให้ผู้ดื่มมีกระบวนการคิด กระบวนการตัดสินใจ และการควบคุมอารมณ์ลดน้อยลง เราจึงมักเห็นผู้ดื่มแอลกอฮอล์แสดงพฤติกรรมแตกต่างไปจากปกติ เช่น มีความก้าวร้าว มีความอ่อนไหวมากกว่าเดิม มีความเฮฮา เป็นต้น แถมการดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานานยิ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายมากมาย เช่น โรคตับแข็ง ความดันโลหิตสูง โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ

แอลกอฮอล์กับ “โรคตับแข็ง”

ตับทำหน้าที่กำจัดแอลกอฮอล์ในร่างกาย ยิ่งดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่สูงและดื่มเป็นระยะเวลานานยิ่งทำให้ตับทำงานหนัก เมื่อตับทำงานหนักเกินไปส่งผลให้ตับเกิดการอักเสบเรื้อรังขึ้น การที่ตับอักเสบเรื้อรังแล้วไม่รีบรักษาจะส่งผลให้ตับเกิดรอยแผลเป็น ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพังผืดในเนื้อตับและกลายเป็นตับแข็งในที่สุด ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานในตับลดลง ทำให้อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง ถ้าหากเป็นตับแข็งแล้วไม่หยุดดื่มแอลกอฮอล์อาการป่วยก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น และผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตเร็วขึ้นกว่าเดิม

สาเหตุของโรคตับแข็งนอกจากการดื่มแอลกอฮอล์

  1. เกิดจากการทานยาหรือสมุนไพรนอกเหนือจากที่แพทย์สั่งเป็นเวลานาน
  2. เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี โดยไวรัสชนิดนี้จะติดต่อผ่านการสัมผัสของเหลวของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เช่น เลือด สารคัดหลั่ง เป็นต้น
  3. มีภาวะไขมันพอกตับ จนทำให้ตับเกิดการอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นพังผืดขึ้นในเนื้อตับที่ส่งผลให้เป็นโรคตับแข็ง
  4. เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจำนวนหลายครั้งในเวลาติดต่อกัน
  5. เป็นโรควิลสัน (Wilson’s disease) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากร่างกายมีทองแดงในปริมาณสูง จนทำให้ตับไม่สามารถกำจัดออกได้หมด ส่งผลให้ตับมีการทำงานผิดปกติจนเกิดเป็นโรคตับแข็งในที่สุด
  6. ได้รับสารพิษบางชนิดในปริมาณที่มากเกินปกติ เช่น สารหนู (Arsenic) เป็นต้น
  7. การทานอาหารปลาดิบเป็นอาหาร เพราะปลาดิบจะมีพยาธิใบไม้ตับอาศัยอยู่ เมื่อทานปลาดิบที่มีพยาธิใบไม้ตับส่งผลให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ที่ส่งผลให้เป็นโรคตับแข็งได้

โรคตับแข็งเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง แถมการรักษายังเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การไม่เจ็บป่วยจากโรคนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และการลดความเสี่ยงการเป็นโรคตับแข็งที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน กินอาหารที่มีประโยชน์ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ร่างกายที่ห่างไกลโรค

สอบถาม