ตับแข็ง ไม่ดื่มก็เป็นได้

ตับแข็ง ไม่ดื่มก็เป็นได้

สารบัญเรื่องโรคตับแข็ง

ตับแข็ง (Cirrhosis) คืออะไร ?

วลีที่ว่า “ไม่ดื่มก็เป็นได้” เป็นคำพูดติดปากหรือสโลแกนยอดฮิตของยุคสมัยนี้ โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่รักสุขภาพและมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคตับแข็ง (Cirrhosis) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่เราคุ้นหูกันดี โดยโรคดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่เนื้อเยื่อตับถูกทำลายต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานและถาวร จนเกิดแผลเป็นและพังผืดมีลักษณะแข็งกว่าปกติ (Fibrous tissue) ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ กระทั่งอาจหยุดการทำงานลง จนกระทั่งอาจนำไปสู่ภาวะตับวายเฉียบพลัน (Acute Liver failure) 

การวินิจฉัยโรคตับแข็ง

แพทย์​สามารถวินิจฉัยโรคตับแข็งได้จากการซักประวัติอาการ พฤติกรรมการดื่มสุรา หรือประวัติทางการแพทย์หรือการใช้ยาประเภทต่างๆ รวมถึงประวัติของการเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง หรือมะเร็งตับในครอบครัวของผู้ป่วย รวมถึงทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือดเพื่อทดสอบการทำงานของตับและตรวจสภาพตับด้วยคลื่นเสี่ยงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (Ultrasound) ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคตับแข็งได้ค่อนข้างแม่นยำ

  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจสารเคมีในเลือดเพื่อวัดประสิทธิภาพในการทำงานของตับ โดยอาจมีการทดสอบดูในหลายส่วน เช่น ตรวจดูการแข็งตัวของเลือด ตรวจการทำงานของตับโดยดูค่าสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ที่เกิดจากการแตกตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือเอนไซม์บางชนิด ไปจนถึงการทดสอบหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี รวมถึงตรวจประสิทธิภาพการทำงานของไตจากค่าครีเอตินิน (Creatinine) ซึ่งสามารถช่วยวัดค่าการทำงานของไตว่าอยู่ในระดับไหน หากค่าดังกล่าวมีระดับลดลง อาจบ่งชี้ถึงอาการของโรคตับแข็งระยะสุดท้าย (Decompensated Cirrhosis)
  • การตรวจสแกนตับ (CT Scan) เป็นการถ่ายภาพของตับด้วยการเอกซเรย์ เพื่อดูสภาพของเนื้อเยื่อว่าเกิดพังผืดหรือรอยแผลขึ้นหรือไม่
  • การตรวจตับด้วยรังสี (Radioisotope Liver Scan) หรือไฟโบรสแกน (Fibro scan) เพื่อประเมินระดับความเสียหายของตับ
  • การตัดชิ้นเนื้อหรือการเจาะผ่านผิวหนัง (Biopsy) เป็นการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อบางส่วนของเนื้อเยื่อตับที่ได้จากผู้ป่วยไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยของแพทย์และช่วยหาสาเหตุของโรคได้

ในปัจจุบัน การตรวจวินิจฉัยในแต่ละแบบที่ดังกล่าวมา จะไม่มีความยุ่งยากและราคาไม่แพง จึงมักเป็นการตรวจอันดับแรกที่แพทย์จะเลือกใช้ ยกเว้นการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งสามารถวินิจฉัยภาวะตับแข็งได้เช่นกัน ทั้งนี้ ข้อเสียเพียงอย่างเดียว คือ ในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ผู้ป่วยจะได้รับรังสีและต้องได้รับการฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้หรือมีผลต่อไตในผู้ป่วยบางรายได้ นอกจากนี้ ยังอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ รวมถึงการผ่าตัดผ่านกล้อง เนื่องจากในบางกรณี อาจต้องใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้องบริเวณช่องท้องร่วมด้วย โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

สาเหตุหลักของโรคตับแข็ง

สาเหตุหลักของโรคตับแข็ง

จากสถิติที่ผ่านมา ระยะแรกเริ่มของโรคตับแข็งมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 40 – 60 ปี แต่ถ้าพบในคนอายุน้อยกว่านั้น อาจเกิดจากโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดรุนแรงจากการใช้ยาผิดหรือสารเคมีบางชนิด อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ส่งผลต่อการทำงานของตับและนำไปสู่การเกิดโรคตับแข็งมากที่สุดมักมาจาก 3 สาเหตุ ดังนี้

  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไปติดต่อกันนานหลายปี หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • เกิดจากอาการเรื้อรังของโรคติดเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ในตับ โดยเฉพาะ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ไวรัสตับอักเสบ ซี
  • มีภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (NAFLD) เช่น ไขมันพอกตับที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนหรือโรคเบาหวาน

สาเหตุรองของโรคตับแข็ง

นอกจากสาเหตุหลักดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเหตุปัจจัยและการมีโรคหรือภาวะอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคตับแข็งได้ เช่น 

  • โรคที่ทำให้เกิดภาวะท่อน้ำดีอุดตัน เช่น โรคบิลิอารี แอทเทรเซีย (Biliary Atresia) ซึ่งพบในทารกแรกเกิดที่ไม่มีท่อน้ำดีมาแต่กำเนิด
  • โรคตับแข็งชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ (Primary Biliary Cirrhosis) ซึ่งพบได้ในผู้ใหญ่
  • ภาวะหัวใจล้มเหลวติดต่อกันหลายครั้ง ซึ่งทำให้ทำให้ของเหลวไหลเข้าตับ
  • โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคหลอดลมพอง (Cystic Fibrosis) โรคพันธุกรรมเมตาบอลิกที่ไม่สามารถสะสมไกลโคลเจนไว้เป็นพลังงานในร่างกายได้ และโรคถุงลมโป่งพองอันเกิดจากภาวะพร่องสารอัลฟ่า-1 (Alpha-1 Antitrypsin Deficiency)
  • โรคอื่นๆ เช่น โรควิลสัน (Wilson’s Disease) ซึ่งเกิดจากการภาวะที่ตับมีการสะสมธาตุทองแดงมากเกินไป รวมถึงภาวะธาตุเหล็กเกินขนาด (Hemochromatosis)
  • การรับประทานยาหรือสมุนไพรบางชนิดเป็นเวลานาน
  • การได้รับสารพิษหรือการติดเชื้อปรสิต (Parasites) 

ทั้งนี้ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็งที่พบได้มากที่สุดในประเทศไทย ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 60 มักเกิดจากการมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง (เฉลี่ยมากกว่าวันละ 80 กรัม และนานประมาณ 8 ปีขึ้นไป) เนื่องจากเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในปริมาณมากๆ จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้พลังงานจากโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ ส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบและเรื้อรัง กระทั่งกลายไปเป็นโรคตับแข็งในที่สุด

ตับแข็ง
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://liverswithlife.com

อาการของโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งเป็นโรคเรื้อรังของตับที่มักเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยมีแผลเป็นเกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อของตับ ทำให้อวัยวะนี้ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่เท่าที่ควร ผู้ป่วยโรคตับแข็งแทบจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก และอาจมีอาการเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนตามระยะของโรค ทั้งนี้ สามารถพบอาการที่หลากหลายต่างกันไปในในผู้ป่วยแต่ละราย อาทิ:

  • ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) ซึ่งเกิดจากการสะสมเม็ดสีของน้ำดี
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไม่อยากอาหาร ในบางครั้งอาจเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ น้ำหนักลด
  • ปัสสาวะสีเข้มขึ้น 
  • ในผู้หญิง อาจมีประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือมีอาการเสียงแหบห้าวคล้ายผู้ชาย
  • ในผู้ชาย อาจมีเต้านมหรือหน้าอกขยายใหญ่ขึ้นพร้อมอาการปวด สมรรถภาพทางเพศลดลง รวมถึงอัณฑะฝ่อตัวหรือเล็กลง (Testicular atrophy)
  • ขาบวมหรือท้องบวมขึ้น เนื่องจากโปรตีนอัลบูมินถูกผลิตน้อยลง ส่งผลให้มีน้ำสะสมในขาหรือท้อง
  • ฝ่ามือแดงทั้งสองข้าง
  • ฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย มีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง
  • ฝ่ามือแดงทั้ง 2 ข้าง
  • มีอาการคันที่ผิวหนังอย่างรุนแรง เนื่องจากสารประกอบของน้ำดีถูกฝังอยู่ในผิวหนัง
  • มีจุดแดงรูปแมงมุมที่หน้าอก หน้าท้อง จมูก ต้นแขน (Spider telangiectasia)
  • มีอาการทางสมอง เนื่องจากตับไม่สามารถกรองสารพิษออกมาได้ จึงเริ่มสะสมในเลือด โดยสัญญาณแรกของการสะสมสารพิษในสมองอาจสังเกตได้จากการที่ผู้ป่วยละเลยการดูแลตนเอง ไม่มีอาการตอบโต้ ลืมง่าย และขาดสมาธิ บางคนกลายเป็นคนง่วงนอนมาก และไม่สามารถตื่นขึ้นมาได้ง่ายๆ
  • ต่อมน้ำลายที่บริเวณกรามทั้งสองข้างโตขึ้น
  • มีความไวต่อยาและผลข้างเคียง เนื่องจากในผู้ป่วยโรคตับแข็ง ตับจะไม่สามารถกรองยาออกจากเลือดได้ในอัตราปกติ ตัวยาจึงออกฤทธิ์นานขึ้นและสะสมอยู่ในร่างกาย
  • เกิดเส้นเลือดฝอยตามตัวมากผิดปกติ เส้นเลือดที่บริเวณรอบสะดือขยาย

นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการหนักมากจะพบว่า มีรูปร่างผอมแห้ง ซีด มือสั่น ม้ามโต เกิดภาวะนิ้วปุ้ม และมีเลือดออกอย่างรุนแรงในกระเพาะอาหารส่วนบนหรือหลอดอาหาร เนื่องมาจากการไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่เข้าขั้นอันตราย และหากความเสียหายต่อตับยังลุกลามต่อไปเรื่อยๆ ตับจะค่อยๆสูญเสียความสามารถในการทำหน้าที่ตามปกติมากขึ้น โดยเมื่อถึงระยะนี้ จะเกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะตับวาย (Liver failure) หรือในบางกรณีอาจถือว่าเป็นโรคตับระยะสุดท้าย (End-stage liver disease)

ภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ตับอันมีหน้าที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต จึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อร่างกายได้มากมาย รวมถึงติดเชื้อโรคได้ง่ายและอาจก่อให้เกิดอาการต่างๆ ที่รุนแรงขึ้นได้เมื่อโรคมีการลุกลามมากขึ้น เช่น

  • ภาวะความดันสูงในระบบหลอดเลือดดำของตับ (Portal hypertension) ซึ่งเกิดจากกลุ่มก้อนและเนื้อเยื่อแผลเป็นไปกดทับหลอดเลือดดำภายในตับ ทำให้ความดันโลหิตภายในตับสูงขึ้นและอาจทำให้เลือดดำย้อนกลับมาอยู่ในลำไส้ รวมถึงอวัยวะอื่นๆในช่องท้องและทำให้หลอดเลือดฉีกขาด มีเลือดไหลเข้าสู่ลำไส้และเกิดการสะสมของของเหลวทั่วร่างกาย ซึ่งถือเป็นภาวะที่อันตรายมาก
  • ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Bleeding) เนื่องมาจากความดันในหลอดเลือดดำที่ไหลผ่านตับมีเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง จึงอาจเกิดการอุดตันจนเส้นเลือดโป่งพองขึ้นได้ง่าย มีความเปราะและเสี่ยงต่อการแตกจนทำให้มีเลือดออกอย่างรุนแรงในกระเพาะอาหารส่วนบนหรือหลอดอาหารได้ ซึ่งมักจะแสดงอาการออกมาในลักษณะอาเจียนเป็นเลือดสีแดงสด
  • อาการบวมน้ำและท้องมาน (Edema & Ascites) เป็นภาวะที่มีการคั่งของน้ำและเกลือตามช่องว่างของเซลล์ต่างๆ จนทำให้ขาและท้องบวม นอกจากนี้ ไตจะพยายามดูดกลับน้ำจากปัสสาวะให้มากขึ้น เพราะไตคิดว่าร่างกายกำลังขาดน้ำอยู่ ทำให้ยิ่งมีของเหลวส่วนเกินสะสมในปอด ขา และช่องท้องของคุณ ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เรียกว่า ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบจากแบคทีเรีย (Spontaneous bacterial peritonitis)

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการร้ายแรงอื่นๆ เช่น ภาวะไตล้มเหลว ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง โรคเบาหวาน ภาวะเลือดออกอย่างรุนแรง สูญเสียมวลกล้ามเนื้อและเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติ ในผู้ป่วยรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุมเร้าและเรื้อรังนานๆ อาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะตับวายได้ และแม้ในทางการแพทย์จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ภาวะตับวายก็สามารถทำให้เกิดไตวายในผู้ป่วยบางรายได้เช่นกัน

การเกิดโรคตับแข็ง

การดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นสาเหตุที่ทุกคนทราบดีว่าทำให้เกิดภาวะตับแข็งได้ แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุนี้เพียงสาเหตุเดียวเท่านั้น ภาวะตับแข็งยังอาจเกิดจากการติดเชื้อโรคบางชนิด โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อรา การติดเชื้อพยาธิ ฯลฯ และยิ่งถ้าหากขาดการควบคุมหรือการดูแลรักษาที่ดีแล้ว คุณมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากตับของคุณไม่สามารถสร้างโปรตีนชนิดต่างๆ ที่จำเป็นในการต่อสู้กับการติดเชื้อ

แนวทางการรักษาโรคตับแข็ง

แนวทางการรักษาโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เป็นการรักษาแบบประคับประคอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดการพัฒนาของเนื้อเยื่อแผลเป็นในตับ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงและลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ทั้งนี้ วิธีการรักษาจะต้องดูตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเป็นหลัก ในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุเฉพาะเจาะจง แต่อาจเป็นอาการผิดปกติจากภาวะแทรกซ้อนของโรค แพทย์จะใช้ยาในการควบคุมอาการของโรค เช่น บรรเทาภาวะการบวมน้ำตามอวัยวะต่างๆ โดยให้รับประทานยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ (Furosemide) หรือสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) เพื่อช่วยขับน้ำออกจากร่างกาย หรือการรักษาภาวะเหล็กเกินด้วยการใช้ยาขับธาตุเหล็ก รับประทานยาประเภทสเตียรอยด์หรือยาต้านไวรัสเพื่อช่วยควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบและยับยั้งไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้น รวมถึงการให้โปรตีนเสริม เพื่อช่วยแก้ไขความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด (Clotting disorders) และกรณีที่มีความดันในตับสูง แพทย์อาจจะให้ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นเบต้า (Beta-blocker) เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol) เป็นต้น

นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ควบคู่ไปกับการรับประทานยาด้วย เช่น

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็ม หรืออาหารที่มีเกลือมากเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายเกิดอาการบวมน้ำมากขึ้น
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ควรหยุดดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพื่อไม่ให้เป็นปัจจัยไปกระตุ้นให้พัฒนามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากเลิกดื่มไม่ได้ แพทย์อาจแนะนำให้เข้าร่วมโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุรา
  • ลดน้ำหนัก หากผู้ป่วยมีภาวะไขมันพอกตับร่วมด้วย ควรมีการลดน้ำหนักลงเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ไม่ใช้ยาบางชนิดติดต่อกันนานๆ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล ยาปฏิชีวนะเตตราไซคลีน ยารักษาวัณโรคบางชนิด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ควรนอนดึก เพราะช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ตับจะทำหน้าที่น้อยลงและฟื้นฟูตัวเองมากขึ้น

สำหรับผู้ป่วยรายที่เป็นโรคในระยะที่รุนแรงแล้ว อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและดำเนินการปลูกถ่ายตับใหม่ที่ได้จากผู้บริจาคตับ (ทำได้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงเท่านั้น) ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งในระยะเริ่มต้นและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือกิจวัตรประจำวันได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ต่อได้นานเกิน 10 ปีขึ้นไป แต่หากปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อนชัดเจน เช่น ท้องมาน ดีซ่าน อาเจียนเป็นเลือด ก็มักจะมีชีวิตอยู่ต่อได้เฉลี่ยไม่เกิน 5 ปี หลังจากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นแล้ว 

ยารักษาโรคตับแข็ง

ยารักษาโรคตับแข็ง

ยารักษาโรคตับแข็งนั้น โดยปกติแล้วจะเป็นยาที่ใช้รักษาตามอาการเพื่อรให้ตับฟื้นฟูตัวเองได้เท่านั้น ในทางการแพทย์ยังไม่มียาตัวใดที่ใช้รักษาภาวะตับแข็งได้โดยตรง แต่ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่แพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนสำหรับโรคไวรัสตับอักเสบเอและบี ไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับแข็งจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงมากกว่าผู้ที่มีสุขภาพดี ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากจนไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายตับ ซึ่งพบว่าในปัจจุบันได้ผลค่อนข้างดี

อย่างไรก็ตาม เคยมีผู้ทดลองใช้ยาสมุนไพรไทยในการทดลองทำการรักษาผู้ป่วย โดยมีสมุนไพร 8 ชนิดเป็นหลัก เช่น หัวเต่ารั้ง หัวเต่าเกียด กำแพง 7 ชั้น หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ ฯลฯ โดยต้มยา 1 ห่อต่อ 1 สัปดาห์ กินติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ปรากฏว่า ผลตรวจเลือดพบการทำงานของตับดีขึ้น และดีขึ้นจนเข้าสู่ระดับปกติในเดือนที่ 5

ส่วนการรักษาโรคตับแข็งด้วยยาแพทย์แผนจีนนั้นมีประวัติมายาวนานแล้ว โดยการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การปรับสมดุลของตับ ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก เพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคตับแข็ง และป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อตับเกิดพังผืด อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในแง่ของสรรพคุณและต้องระมัดระวังในการใช้สมุนไพรหรือเห็ดบางชนิด เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อตับเพิ่มขึ้นได้

แนวทางป้องกันโรคตับแข็ง

การปฏิบัติตัวเพื่อการดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดโรคตับแข็ง หรือเพื่อให้สามารถรับมือกับโรคดังกล่าวได้แต่เนิ่นๆ สามารถทำได้โดยการลดโอกาสของการเกิดโรคหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดโรคให้มากที่สุด รวมไปถึงการดูแลสุขอนามัยพื้นฐาน ตามคำแนะนำต่อไปนี้:

  • เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นปัจจัยหลักของการเกิดโรค หากเลิกไม่ได้ ควรจำกัดปริมาณการดื่มให้ลดลงมากที่สุด
  • ฉีควัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เพื่อลดโอกาสของการเกิดภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งเป็นโรคที่นำทางไปสู่โรคตับแข็งได้
  • รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุอย่างพอเพียง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐานด้วยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อต่างๆ
  • ไม่ใช้ยาหรือซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร โดยเฉพาะยาที่อาจมีพิษต่อตับ

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีหรือตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้สามารถดูแลรักษาภาวะตับแข็งได้อย่างทันท่วงที

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับโรคตับแข็ง

  • โรคตับแข็งจัดว่าเป็นโรคของผู้ใหญ่ เพราะมักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 25 – 50 ปี หรือประมาณ 85% ของผู้ป่วยตับแข็งทั้งหมด
  • ถึงแม้จะดูเหมือนว่ามีมากมายหลายสาเหตุในการเกิดโรคตับแข็ง แต่ผู้ที่ใช้ชีวิตในแบบที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตับอย่างต่อเนื่อง มักจะเป็นโรคมะเร็งตับก่อนที่พวกเขาจะเกิดโรคตับแข็งเสียอีก
  • นอกจากการดูแลตนเองด้านการบริโภคแล้ว ยังไม่ควรปล่อยให้ตนเองท้องผูก เพราะจะทำให้สารพิษดูดซึมกลับเข้าไปสะสมที่ตับมากขึ้น
  • ปัจจุบัน การรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายตับยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะเป็นวิธีรักษาที่มีขั้นตอนซับซ้อนและมีราคาสูง รวมถึงมักจะขาดแคลนผู้บริจาคตับ และหาตับที่เข้ากับเนื้อเยื่อของผู้ป่วยได้ค่อนข้างยาก
  • ผู้เป็นโรคตับแข็งในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน อาจมีเพียงอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย จึงไม่ค่อยรู้สึกตัวว่ามีความผิดปกติที่ตับ
  • หนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็ง อาจเป็นผลพวงจากอาการตับอักเสบที่เกิดจากภาวะภูมิต้านทานตนเองทำงานผิดปกติ
  • โรคตับแข็งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นลำดับที่ 10 สำหรับผู้ชาย และลำดับที่ 12 สำหรับผู้หญิงทั่วโลก
เคล็ดลับการกิน ปลอดโรคตับแข็ง

เคล็ดลับการกิน ปลอดโรคตับแข็ง

โรคตับแข็งนั้นมีส่วนเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับพฤติกรรมการกิน (และการดื่ม) ทั้งในแง่ของการรักษาและการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ดังนั้น เราจึงขอแนะนำเคล็ดลับในการกินเพื่อดูแลและป้องกันตัวคุณเองจากการเกิดโรคตับแข็ง ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ โดยเฉพาะอาหารทะเล เนื่องจากอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรง นอกจากนี้ การที่ตับติดเชื้อบางชนิด เช่น ติดเชื้อพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosomiasis)  ไข่ของพยาธิที่อยู่บริเวณกลุ่มหลอดเลือดจะกระตุ้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันให้เจริญมากเกิน จนตับกลายเป็นพังผืดและกลายเป็นสาเหตุทางอ้อมที่ทำให้เกิดโรคตับแข็ง
  • รับประทานโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมและควรรับประทานโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น ปลาหรืออาหารทะเลต่างๆ รวมถึงโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเหลือง เป็นต้น
  • ระมัดระวังอาหารจำพวกไขมัน ควรกินให้น้อยลงกว่าปกติ เนื่องจากตับย่อยไขมันได้น้อยลง ควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ โดยแทนที่ด้วยไขมันจากพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีกรดไขมันจำเป็นไลโนเลอิก
  • แหล่งพลังงานจากอาหารที่สำคัญควรได้มาจากอาหารคาร์โบไฮเดรตจำพวกข้าวและแป้งเป็นหลัก ซึ่งดีกว่าได้พลังงานจากไขมันหรือน้ำตาล ถ้าให้ดีควรกินคาร์โบไฮเดรตประเภทเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้องและขนมปังโฮลวีต
  • ลดการกินอาหารที่ผ่านการแปรรูป จำพวกไส้กรอก แหนม หรือหมูยอ เป็นต้น เพราะอาหารที่ผ่านการแปรรูปเหล่านี้มักมีการเติมสารที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิตอาหาร และควรหลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวต่างๆ ด้วย

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเริ่มมีภาวะอาการตับแข็ง อาจจำเป็นต้องกินวิตามินและเกลือแร่เสริม โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจากตับเป็นแหล่งสะสม แปรเปลี่ยน และเผาผลาญสารอาหารต่างๆ ถ้าตับสูญเสียการทำงานไป ร่างกายก็จะขาดแคลนสารอาหารเหล่านั้นได้

ตับกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในทางการแพทย์จะวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ประมาณ 12 – 15 กรัมเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ 1 หน่วย จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในปริมาณแอลกอฮอล์ที่มากกว่าวันละ 5 หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป จะเกิดผลเสียต่อตับอย่างชัดเจน และมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งเพิ่มขึ้นประมาณ 15 – 20% 

ทั้งนี้ เครื่องดื่มแต่ละชนิดจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • เบียร์ 100 มิลลิลิตร ให้ปริมาณแอลกอฮอล์ 4 กรัม หรือ เบียร์ 1 ขวด มีปริมาณแอลกอฮอล์ 13 กรัม
  • ไวน์ 100 มิลลิลิตร ให้ปริมาณแอลกอฮอล์ 12 กรัม หรือ ไวน์ 1 แก้ว มีปริมาณแอลกอฮอล์ 12 กรัม
  • วิสกี้ 100 มิลลิลิตร ให้ปริมาณแอลกอฮอล์ 40 กรัม หรือ วิสกี้ 2 ฝา มีปริมาณแอลกอฮอล์ 15 กรัม

เมื่อทราบปริมาณแอลกอฮอล์ตามที่ระบุข้างต้นแล้ว บรรดานักดื่มทั้งหลาย คงพอที่จะคำนวณปริมาณในการดื่มให้เหมาะสมตามรสนิยมความชอบของตนเอง เพื่อที่จะได้รักษา ‘ตับ’ เอาไว้ใช้งานให้ได้ตราบนานเท่านาน อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งของตนเองและคนที่คุณรักด้วยนะครับ

ป.ล. ผู้หญิงมีอัตราเสี่ยงที่ตับจะได้รับอันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าผู้ชาย ด้วยเหตุที่ร่างกายมีสารแอลกอฮอล์ ดีไฮโดรจีเนส (Alcohol Dehydrogenase) อันเป็นเอนไซม์ที่จะเข้าไปขัดขวางและทำลายโมเลกุลของแอลกอฮอล์น้อยกว่าผู้ชาย 

สอบถาม