ตับวาย แต่ยังไม่สายเกินไป

ตับวาย ยังไม่สายเกินไป

ตับวาย (Liver Failure) คืออะไร ?

ตับเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญเพื่อมีชีวิตอยู่ให้ยืนยาวและดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นปกติสุข ทั้งนี้ ภาวะตับวาย (Liver failure) เป็นภาวะที่ต้องพึงระวังและไม่ควรนิ่งเฉย เพราะเมื่อตับวายหรือตับทำงานล้มเหลว ชีวิตก็เท่ากับตายไปแล้วครึ่งหนึ่ง เนื่องจากมันเป็นอวัยวะที่ควบคุม รวมถึงช่วยหน้าที่ทดแทนและทำงานร่วมกับอวัยวะอื่นๆ มากมาย ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย

การวินิจฉัยภาวะตับวาย

เนื่องจากภาวะตับวายกว่า 90% เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีอาการหรือเป็นโรคตับแข็ง โดยผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าอยู่ในภาวะตับแข็งแล้วประมาณ 30 – 40% มักจะเกิดภาวะตับวายภายใน 5 – 10 ปี แต่ แพทย์​จึงสามารถวินิจฉัยภาวะตับวายด้วยวิธีการในทำนองเดียวกันกับการวินิจฉัยโรคตับแข็ง คือ การซักประวัติอาการ พฤติกรรมการดื่มสุรา หรือประวัติทางการแพทย์หรือการใช้ยาประเภทต่างๆ รวมถึงประวัติของการเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังหรือมะเร็งตับในครอบครัวของผู้ป่วย รวมถึงทำการตรวจร่างกายและตรวจสภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound) รวมถึงวิธีการดังต่อไปนี้

  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจสารเคมีในเลือดเพื่อวัดประสิทธิภาพในการทำงานของตับ โดยอาจมีการทดสอบดูในหลายส่วน เช่น ตรวจดูการแข็งตัวของเลือด ตรวจการทำงานของตับโดยดูค่าสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ที่เกิดจากการแตกตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือเอนไซม์บางชนิด 
  • การตรวจสแกนตับ (CT Scan) เป็นการถ่ายภาพของตับด้วยการเอกซเรย์ เพื่อดูสภาพของเนื้อเยื่อว่าเกิดพังผืดหรือรอยแผลขึ้นหรือไม่
  • การตรวจตับด้วยรังสี (Radioisotope Liver Scan) หรือไฟโบรสแกน (Fibro scan) เพื่อประเมินระดับความเสียหายของตับ
  • การตัดชิ้นเนื้อหรือการเจาะผ่านผิวหนัง (Biopsy) เป็นการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อบางส่วนของเนื้อเยื่อตับที่ได้จากผู้ป่วยไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยของแพทย์และช่วยหาสาเหตุของโรคได้
ตับวาย-1
 (ขอบคุณภาพจาก https://www.webmd.com/)

สำหรับภาวะตับวายเฉียบพลัน เมื่อทำการตรวจวินิจฉัยในผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคตับแข็งมาก่อน แพทย์จะพบภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Coagulopathy) ซึ่งมักจะมีอัตราส่วน INR มากกว่า 1.5 รวมถึงอาจมีภาวะทางจิตเปลี่ยนไปและมีอาการเจ็บป่วยมาไม่เกิน 26 สัปดาห์

สาเหตุที่ทำให้ตับวาย

เมื่อเซลล์ตับที่เคยทำงานได้อย่างปกติ ถูกแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อพังผืดมากๆ กระทั่งเหลือเซลล์ตับที่สามารถทำงานได้ลดน้อยลงเรื่อยๆ ส่งผลให้เซลล์ตับที่เหลืออยู่ต้องแบกรับภาระในการทำงานทดแทนและเกิดความเสียหายอย่างหนัก จนไม่สามารถประคับประคองตับให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเกิดเป็นภาวะตับวายในที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่อาการตับแข็งเท่านั้นที่จะพัฒนามาเป็นภาวะตับวายได้ เพราะตับสามารถวายแบบเฉียบพลันได้เช่นกัน ซึ่งมักเกิดขึ้นในผู้ที่ดื่มสุราจัด ผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบแบบเฉียบพลัน หรือมีปัจจัยแวดล้อมอื่นที่ทำร้ายตับมากๆ ทำให้ตับเสียหายจนทำงานไม่ได้ตามปกติ จึงนำไปสู่ภาวะตับวายเฉียบพลัน โดยมีสถิติหรืออัตราการเกิดภาวะตับวายประเภทนี้ ไม่เกิน 10% ของผู้ป่วยทั้งหมด เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะตับวายจะพัฒนามาจากอาการหรือโรคตับแข็งมากกว่า 

อาการของผู้ที่มีภาวะตับวาย

คำว่า ‘วาย’ ในภาษาการแพทย์ หมายถึง การเสื่อมสมรรถภาพในการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ เป็นเหตุให้แสดงอาการเจ็บป่วยขึ้น ไม่ได้หมายถึง วายวอด วายชีวิต วายปราณ วายสังขาร ดังความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะตับวาย คือตับจะอยู่ในสภาวะที่ขาดประสิทธิภาพ สมรรถนะเสื่อมถอย และมักจะมีอาการต่างๆ ของโรคตับนำทางมาก่อน เช่น

  • ปัสสาวะสีเหลืองเข้มผิดปกติ
  • ตาเหลือง ตัวเหลือง 
  • อ่อนเพลีย หายใจหอบ
  • คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย 
  • คันตามร่างกายแต่ไม่มีผื่นบริเวณผิวหนัง
  • ปวดท้องบริเวณด้านขวาบนหรือเหนือสะดือ
  • แสบท้องคล้ายเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • มีอุจจาระหรืออาเจียนปนเลือด

ทั้งนี้ อาการปวดท้องของผู้ที่จะมีภาวะตับวาย มักเกิดขึ้นร่วมกับการเป็นไข้จากโรคของถุงน้ำดี น้ำหนักลด เบื่ออาหาร คล้ายอาการของผู้ที่เป็น มะเร็งตับ หากมีอาการของโรคตับแข็งหรือตับวายระยะท้ายๆ แล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการบวมบริเวณหลังเท้า ขา แล้วค่อยๆเป็นมากขึ้นจนท้องบวม มีน้ำคั่งในท้อง (ท้องมาน)  อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระสีดำเหมือนสียางมะตอย มีอาการสับสน หลงลืม อารมณ์แปรปรวน คือ อารมณ์ดีผิดปกติสลับกับอารมณ์ฉุนเฉียว มีระบบการนอนผิดปกติ คือ นอนไม่หลับตอนกลางคืน แต่จะง่วงหรือหลับในตอนกลางวัน

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการตับวาย

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและมักก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีภาวะตับวายหรือตับทำงานล้มเหลว คือ โรคสมองจากตับ ซึ่งมักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระดับความเข้มข้นของกรดอะมิโนบางตัวในร่างกาย อันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนและสำคัญอย่างหนึ่ง โรคสมองจากตับมีระดับความรุนแรงได้หลากหลาย ซึ่งรวมถึงระดับที่ไม่รุนแรงมากนัก โดยอาจทำให้ความสามารถในการพูดและเขียนบกพร่อง ไปจนถึงระดับรุนแรงมากถึงขั้นหมดสติเป็นเวลานาน

วิธีรักษาโรคตับวาย

ในอดีต ผู้ที่เป็นโรคหัวใจวายหรือตับวายมักจะมีชีวิตอยู่ได้อีกชั่วระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นโรคตับวาย แต่ปัจจุบันวงการแพทย์มีความก้าวหน้าจนสามารถผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเหล่านี้กันได้แล้ว โดยนำเอาอวัยวะนั้นๆ ของผู้อื่น (ผ่านการรับบริจาคเป็นส่วนใหญ่) มาใส่แทนอวัยวะเดิมที่เสียไป การผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะก็เป็นวิธีการรักษาในกรณีของผู้ป่วยตับวายเช่นเดียวกัน ซึ่งแพทย์จะดำเนินการผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยที่ตับเสียหายไปมากแล้ว

นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถทำการรักษาตามระยะหรืออาการของผู้ป่วยด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น ดังนี้:

  • รักษาระดับความดันซึ่งเกิดจากภาวะของเหลวคั่งในสมอง โดยแพทย์จะให้ยาที่ช่วยกำจัดหรือระบายของเหลวส่วนเกินแก่ผู้ที่มีอาการสมองบวม
  • ตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อคัดกรองการติดเชื้อเป็นครั้งคราว โดยทิ้งช่วงห่างหรือระยะเวลาตามดุลยพินิจของแพทย์ รวมถึงอาจให้ยาต้านเชื้อบางชนิดด้วย
  • ให้ยาป้องกันภาวะเลือดออกเกินขนาด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดังกล่าวในผู้ป่วยที่มีแนวโน้มอาการเสียเลือดมาก นอกจากนี้ ในผู้ป่วยรายที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงพอสมควร ก็สามารถทำการเปลี่ยนถ่ายเลือดได้

ยาสำหรับผู้มีภาวะตับวาย

ยารักษา โรคไวรัสตับอักเสบ ซี ไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะตับวายได้ (ใช้ยาดังกล่าวเพื่อประคองอาการหรือรักษาได้เฉพาะผู้ที่เป็นมะเร็งตับ) อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตับวายแบบเฉียบพลันอันเกิดจากการตับสะสมหรือได้รับยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เกินขนาด แพทย์อาจให้ยาอะเซทิลซิสเตอีน (Acetylcysteine) ในการรักษา และสำหรับผู้ป่วยที่เกิดจากการได้รับสารพิษจากโลหะหนักหรืออาหารบางชนิด (เช่น เห็ดพิษ) แพทย์ก็จะใช้ยาต้านพิษเหล่านั้นในการรักษา เพื่อลดความเสียหายของตับ

แนวทางป้องกันตับวาย

แนวทางการป้องกันภาวะตับวายสำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรคตับแข็ง คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงให้มากเท่าที่จะทำได้ เช่น 

  • งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง 
  • ไม่ใช้สิ่งของมีคมร่วมกับผู้อื่น เช่น กรรไกรตัดเล็บหรือมีดโกน เป็นต้น 
  • หากรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ให้ใช้ช้อนกลางตักกับข้าว เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบางชนิด 
  • รับประทานอาหารหรือวิตามินเสริมอย่างเหมาะสม ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

ส่วนกรณีของผู้ที่เป็นโรคตับแข็งหรือมีภาวะเสี่ยงจากโรคประจำตัวต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้เหมาะสมด้วย อาทิ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นดูแลสุขภาวะให้ถูกต้องตามหลักอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้ติดเชื้อเป็นระยะเวลานานๆ หรือต่อเนื่อง และควรฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบด้วย 

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับตับวาย

  • มีอวัยวะเพียงไม่กี่อย่างในร่างกายที่หากเกิดโรคหรือความพิการเฉียบพลัน จะทำให้เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หนึ่งในนั้นคือ ตับ (และหัวใจ) เช่น หากเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ก็อาจจะทำให้คนผู้นั้นเสียชีวิตทันที และถ้าเกิดตับวายเฉียบพลัน ก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
  • หากมีอาการนำทางของภาวะตับวายตามที่กล่าวไปข้างต้นมากกว่า 3 ประการขึ้นไป ควรหาโอกาสไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพตับหรือตรวจร่างกายในเชิงลึก เนื่องจากอาการนำทางต่างๆ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะตับวาย ไม่ควรงดรับประทานอาหารหวาน เพราะหนึ่งในผลข้างเคียงของภาวะตับวาย คือ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ลมหายใจของผู้ที่อาจเสี่ยงต่อภาวะตับวาย รวมถึงผู้ที่เกิดภาวะตับวายขึ้นแล้วบางราย อาจจะมีกลิ่นคล้ายของเหม็นอับ
  • สภาวะสุขภาพของผู้ที่เกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน อาจเปลี่ยนจากแข็งแรงสมบูรณ์ไปเป็นสภาวะเฉียดตายภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน
  • ผู้ป่วยประมาณเกือบ 50% ที่มีภาวะตับวาย มักจะมีอาการไตทำงานผิดปกติร่วมด้วย ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด โดยสามารถสังเกตได้จากการที่มีการถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระน้อยลง

รวมข้อมูลอ้างอิง: 
1. https://emedicine.medscape.com/article/177354-overview
2. https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/liver-failure
3. https://www.doctor.or.th/article/detail/4404
4. https://www.mayoclinic.org › diagnosis-treatment › drc-20352868

สอบถาม