ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus)

ไวรัสตับอักเสบ ซี

ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus)

ไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นโรคมีสาเหตุมาจากการติด เชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี (HCV) โดยสามารถติดต่อกันได้ทางเลือดหรือทางเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ หากไม่ได้ทำการรักษา สามารถทำให้เกิดผลที่รุนแรงต่อตับตามมา โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเรื้อรัง มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาเป็นโรคตับที่รุนแรงหรือ มะเร็งตับ ได้

เชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเป็น โรคตับอักเสบเรื้อรัง มากกว่าเชื้อไวรัสชนิด บี และมากกว่าสาเหตุที่เกิดจากการดื่มสุรา ที่สำคัญ ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ที่มีอาการตับอักเสบเรื้อรังจะกลายไปเป็นโรคตับแข็ง และประมาณร้อยละ 4 ของผู้ป่วยโรคตับแข็งจะมีอาการรุนแรงขึ้นกระทั่งกลายไปเป็นมะเร็งตับในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ด้วยการแพทย์และการรักษาในปัจจุบันที่ทันสมัย ผู้ที่ติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบซีส่วนใหญ่จะ สามารถรักษาให้หาย ควบคุมอาการ และดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติได้ ก่อนที่อาการของโรคจะพัฒนาไปสู่ขั้นรุนแรงดังกล่าว

ตับ

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

หากท่านใดคิดว่าตนเองมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี สามารถไปโรงพยาบาลให้แพทย์ตรวจได้ทันที โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อโรคดังกล่าว หากพบว่ามีเชื้อ แพทย์ก็จะให้ทำการตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณไวรัสในเลือด (Viral Load) และตรวจหาสายพันธ์ุของไวรัส ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหาทางรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมให้ได้ โดยแพทย์จะดำเนินการดังที่กล่าวมาในห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ

ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซี จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ หากแพทย์ประเมินอาการเบื้องต้นแล้วพบว่าอาจเป็นตับอักเสบแบบเฉียบพลัน จะวินิจฉัยโดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของตับและดูว่ามีการอักเสบหรือไม่ รวมถึงการตรวจหาสารภูมิคุ้มกัน Anti-HCV หรือนับปริมาณไวรัสในเลือด ซึ่งบางรายที่ตรวจไม่เจอในระยะแรก อาจต้องทำการตรวจซ้ำในอีก 2-8 สัปดาห์ แต่หากเป็นอาการตับอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะวินิจฉัยได้จากการพบว่าตับมีอาการอักเสบมามากกว่า 6 เดือนแล้ว รวมถึงมีการตรวจพบไวรัสในกระแสเลือดด้วย

สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีการติดเชื้อจากทางเลือด เช่น ได้รับการบริจาคเลือดที่มีเชื้อดังกล่าวติดมา โดยเฉพาะช่วงก่อนปี พ.ศ. 2535 เพราะว่าในช่วงนั้นประเทศไทยยังไม่สามารถคัดกรองเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้มีประสิทธิภาพเพียงพอ

นอกจากนี้ โรคไวรัสตับอักเสบซียังติดต่อสู่กันได้จากการเสพยาเสพติดด้วยการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันและมีคู่นอนหลายคน ในกรณีนี้จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้น้อยกว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายรักร่วมเพศ ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่า รวมถึงผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีก็จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย ส่วนสาเหตุอื่นๆ ของการติดเชื้อ ได้แก่ การเจาะหู เจาะลิ้น เจาะจมูก หรือสักลายตามร่างกายโดยใช้เครื่องมือที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อให้ถูกต้อง แม้กระทั่งการใช้แปรงสีฟัน มีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น ก็เพิ่มโอกาสในการได้รับเชื้อได้มากขึ้นเช่นกัน 

สำหรับสาเหตุที่มาจากแม่ตั้งครรภ์สู่ลูกนั้น พบว่ามีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม เชื้อ ไวรัสตับอักเสบ ซี ไม่ติดต่อทางการรับประทานอาหารหรือการใช้จามชามช้อนส้อมร่วมกัน การให้นมบุตร การกอด หรือการจูบ และไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส ไอ หรือจามรดใส่กัน

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี มักจะไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคนี้ เพราะจะไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นชัดเจน โดยมักจะพบว่าตนเองได้รับเชื้อชนิดนี้ก็ต่อเมื่อตับได้รับความเสียหายมากแล้ว มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่จะมีอาการแสดงให้เห็นในช่วงระยะ 6 เดือนแรกที่ได้รับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงให้เห็น อาการเหล่านั้นก็มักจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม อาการของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเฉียบพลัน จะมีดังต่อไปนี้

  • ไข้ขึ้นหรืออุณหภูมิในร่างกายสูงถึง 38-40 องศาเซลเซียส
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบาย
  • ไม่อยากอาหารหรือเบื่ออาหาร
  • ปวดแน่นในช่องท้อง
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตัวเหลืองและตาเหลือง

ในผู้ป่วยบางราย อาการต่างๆ ที่กล่าวมาสามารถหายได้เอง โดยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้เองในระยะเวลาไม่กี่เดือน และผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงเพิ่มเติม นอกจากจะได้รับการติดเชื้ออีกครั้ง ในกรณีผู้ป่วยที่ยังมีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ในร่างกายเป็นเวลาหลายปี จะพัฒนาเกิดเป็นไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง ซึ่งอาการที่พบได้มีดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
  • มีอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • รู้สึกป่วย ไม่สบาย เป็นไข้
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความจำในระยะสั้น สมาธิ และความคิดสับสน
  • อารมณ์แปรปรวน
  • มีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
  • อาหารไม่ย่อยหรือท้องอืด
  • น้ำหนักลด
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม
  • ผื่นคันตามผิวหนัง
  • เลือดออกง่ายและเกิดรอยช้ำ
  • ขาบวมน้ำ

ในรายที่เป็นโรคตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคสามารถพัฒนาจนทำให้เกิดโรคตับที่รุนแรงได้ เช่น โรคตับแข็ง โดยสัญญาณและอาการของตับแข็ง ได้แก่ ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) และภาวะมีน้ำในช่องท้องหรือท้องมาน

แนวทางรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี

แนวทางการรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี

การรักษาไวรัสตับอักเสบซี อาจทำให้หายขาดได้ด้วยยา ทั้งการใช้ยาฉีดและ/หรือยารับประทาน โดยแพทย์จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้ พยาธิสภาพที่ตับ และลักษณะของผู้ป่วย หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเพียงระยะเริ่มแรกหรือระยะเฉียบพลัน การรักษาอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มในทันที เพราะร่างกายอาจสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เอง ซึ่งจะมีการตรวจเลือดเพื่อติดตามผลและความเป็นไปของโรค แต่หากเชื้อโรคยังคงอยู่ต่อไปเป็นระยะเวลานานหลายเดือน หรือที่เรียกว่าไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง ก็จำเป็นที่จะต้องทำการรักษาตามความรุนแรงของอาการและลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วยด้วย เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็มีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้

ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

การรักษาโรคตับอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดซี ต้องกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายให้หมดและต้องตรวจไม่พบเชื้อไวรัสซีในเลือดเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนภายหลังการรักษา จึงจะถือว่าการรักษาได้ผลสมบูรณ์ โดยที่ผ่านมา มีการนำยาบางชนิดมาใช้รักษาโรคตับอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากไวรัสชนิดซี ได้แก่ ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) และยาไรบาไวริน (Ribavirin) ซึ่งมีวิธีการใช้ยาหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและชนิดของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (มีทั้งหมด 6 ชนิดหรือ 6 Genotypes) ในผู้ป่วยแต่ละรายที่แตกต่างกันไป

นอกจากยาดังกล่าวแล้ว ยาต้านไวรัสที่แพทย์มักนำมาใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี คือ ยาเลดิพาสเวียร์ – โซฟอสบูเวียร์ (Ledipasvir-Sofosbuvir) โดยตัวยาดังกล่าวจะออกฤทธิ์ยับยั้งไวรัสไม่ให้แพร่กระจายในร่างกาย ทั้งนี้ ปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น หากเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 35 กิโลกรัม แพทย์มักจะให้รับประทานยาปริมาณ 90-400 มิลลิกรัม จำนวน 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ส่วนระยะเวลาในการใช้ยา ขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของโรค หรือตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการรักษาด้วยยา จะอยู่ที่ช่วงประมาณ 12 – 30 สัปดาห์

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

การใช้ยาเลดิพาสเวียร์ – โซฟอสบูเวียร์ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อย และปวดศีรษะ เป็นต้น ทั้งนี้ หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้นหรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการลมพิษ หายใจลำบาก 
  • หน้าบวม คอบวม ลิ้นบวม และริมฝีปากบวม
  • เบื่ออาหาร ท้องไส้ปั่นป่วน
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด
  • ตัวเหลืองและตาเหลือง

*หากใช้ยาเลดิพาสเวียร์ – โซฟอสบูเวียร์ ร่วมกับยาอะมิโอดาโรน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อหัวใจ เช่น หัวใจเต้นช้ามากกว่าปกติ หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก สับสน มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ อ่อนเพลีย เหนื่อยอย่างรุนแรง และวิงเวียนศีรษะ เป็นต้น 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยมีเชื้ออยู่ในร่างกายอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายปี หรือมีอาการป่วยเป็นตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะหรือโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น

  • โรคตับแข็ง (Cirrhosis) ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ผ่านมาแล้วประมาณ 25 ปี โดยตับจะเกิดการอักเสบและถูกทำลายจนทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ในร่างกายได้ตามปกติ
  • ภาวะตับวาย (Liver Failure) หากเป็นโรคตับแข็งในระดับที่รุนแรงมากแล้ว อาจทำให้ตับหยุดการทำงานหรือเกิดภาวะตับวายได้
  • มะเร็งตับ (Liver Cancer) มีอัตราส่วนผู้ป่วยตับอักเสบที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบซีจำนวนไม่มาก ที่อาการของโรคจะพัฒนาจนกลายไปเป็นมะเร็งตับ แต่ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดมะเร็งตับ
แนวทางป้องกันไวรัสตับอักเสบ ซี

แนวทางป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ซี

ไวรัสตับอักเสบซี ไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนกับไวรัสตับอีกเสบเอและบี แต่เราสามารถป้องกันตัวเองจากไวรัสชนิดนี้ได้ โดยมีเรื่องสำคัญที่ควรจำไว้ ดังนี้:

  • ห้ามใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ติดยาเสพติดที่ใช้ฉีดเข้าเส้น เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี รวมไปถึงโรคร้ายแรงอื่นๆด้วย
  • ระมัดระวังในการเจาะหู เจาะจมูก เจาะลิ้น หรือสักตามร่างกาย หากเลือกแล้วที่จะทำ ก็ต้องมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์อย่างถูกหลักอนามัย โดยเฉพาะเข็มที่ใช้ ต้องผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบเสี่ยงหรือไม่ได้ป้องกัน โดยเฉพาะกรณีที่มีคู่นอนหลายคน ซึ่งจะมีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น

นอกจากสถานการณ์หรือกิจกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังควรที่จะลดหรือเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และหันมาดูแลสุขภาพเพิ่มเติมด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะยิ่งช่วยเสริมสมรรถภาพของตับให้แข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น

โรคไวรัสตับอักเสบซี ต่างจากโรคไวรัสตับอักเสบเอและบีอย่างไร

โรคไวรัสตับอักเสบ เอ , ไวรัสตับอักเสบ บี และ ไวรัสตับอักเสบซี เกิดจากเชื้อไวรัสต่างชนิดกัน ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดอาการอักเสบของตับได้ แต่เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเพียงชนิดเอและบีเท่านั้น เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบชนิดซี

เกล็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบ ซี

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบซี

  • ยาที่ชื่อ “โซฟอสบูเวียร์” (Sofosbuvir) ที่ขายในสหรัฐฯ มีราคาประมาณ 2.5 ล้านบาทสำหรับการรักษาเป็นเวลา 3 เดือนจนหาย หรือ 30,000 บาทต่อเม็ด
  • ในปี 2018 มีการแถลงข่าวถึงผลสำเร็จโครงการวิจัยยาต้านไวรัสตับอักเสบซีคู่ใหม่ คือ ‘Sofosbuvir – Ravidasvir’ ซึ่งมีประสิทธิภาพรักษาโรคและมีอัตราหายขาดสูงถึง 96%
  • ผู้ประกันตน หากพบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี สามารถใช้สิทธิประกันสังคมรักษาโรคนี้ได้กระทั่งสิ้นสุดการรักษา
  • ไวรัสตับอักเสบซีแบ่งออกเป็น 6 ชนิด (genotype) โดยในประเทศไทยพบชนิดที่ 1 และ 3 มากพอๆ กัน คือ ประมาณ 40% รองลงไปจะเป็นชนิดที่ 2 ส่วนชนิดที่ 4 5 และ 6 นั้นพบได้น้อย ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจว่าไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นนั้นเป็นชนิดอะไร เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาโรคต่อไป
  • ผู้ป่วยหลายรายไม่ทราบว่าตนเองกำลังติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จนกระทั่งตับถูกทำลายไปจนสาหัสแล้ว
  • ผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซี มีความไวต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากกว่าผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคชนิดเดียวกันนี้
  • วิธีการปลูกถ่ายตับ ไม่สามารถรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้
  • ปัจจุบันยังไม่มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบซีได้สำเร็จ แต่โอกาสในการติดเชื้อมีน้อยกว่าไวรัสตับอักเสบเอและบี
  • องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการไม่ได้รับการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 7 แสนคนต่อปี และคาดการณ์ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทั่วโลกอยู่อีกประมาณ 150 ล้านคน

บทความเรื่องตับอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สอบถาม