โรคตับอักเสบ (Hepatitis) คืออะไร ?
ตับอักเสบ (Hepatitis) เป็นภาวะที่เซลล์ตับมีอาการอักเสบอันเกิดจากการบาดเจ็บหรือถูกทำลาย อันเนื่องมาจากสารเคมี การเสพยาเสพติด การดื่มสุรามากเกินไป หรือเชื้อไวรัสต่างๆ กระทั่งส่งผลต่อประสิทธิภาพทำงานของตับและทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย รู้สึกปวดเมื่อยตามตัว ข้อกระดูก และกล้ามเนื้อ รวมถึงมีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้และอาเจียน เบื่ออาหาร อุจจาระมีสีซีดในขณะที่น้ำปัสสาวะมีสีเข้ม ตาเหลือง ตัวเหลือง และมักมีอาการปวดท้องที่ใต้ชายโครงด้านขวา
ทั้งนี้ อาการและความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปตามแต่สาเหตุและระยะเวลาของการเกิดโรค หากเข้ารับการรักษาไม่ทันการณ์ (โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะอยู่ในช่วง 180 วัน) อาการของโรคอาจจะพัฒนาไปสู่การเป็น โรคตับแข็ง ได้
การวินิจฉัยโรคตับอักเสบ
การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบสามารถดำเนินการได้ทั้งจากลักษณะอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ รวมถึงประวัติการใช้สารเสพติด การตรวจเลือด และการตรวจชิ้นเนื้อตับ (แพทย์อาจใช้อัลตราซาวด์เพื่อนำทางและเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากตับด้วยการใช้เข็มจิ้มผ่านทางผิวหนัง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์และการอักเสบของตับในห้องปฏิบัติการต่อไป)
โดยทั่วไปแล้ว หากเป็นกรณีของโรคตับอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสและอาการตับอักเสบเฉียบพลันอื่นๆ แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยได้จากการตรวจเลือดและอาการตามที่ปรากฏ แต่หากเป็นโรคตับอักเสบที่เกิดจากสาเหตุอื่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการ ตับอักเสบเรื้อรัง การตรวจเลือดมักจะไม่ได้ผลและอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการตรวจชิ้นเนื้อตับในการวินิจฉัย ทั้งนี้ การวิเคราะห์ทางจุลพยาธิวิทยาจะสามารถช่วยบ่งบอกความรุนแรงและรูปแบบของอาการอักเสบ รวมถึงบริเวณที่เกิดอาการพังผืดได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะหากวินิจฉัยควบคู่ไปกับการประเมินประวัติทางด้านเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วยร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว การตรวจชิ้นเนื้อตับไม่ใช่วิธีการที่แพทย์จะใช้ตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้น เนื่องจากมันเป็นวิธีการขั้นสูงและมีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการตกเลือด โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยดังกล่าวได้รับบาดเจ็บที่ตับหรือมีอาการของโรคตับแข็ง
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจโรคตับอักเสบด้วยวิธีอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นการใช้คลื่นเสียงสร้างภาพ (Imaging) อวัยวะภายในช่องท้องเพื่อดูลักษณะของตับ ขนาดของตับ ความเสียหายของตับ เนื้องอกในตับ รวมถึงความผิดปกติของถุงน้ำดีและระดับของเหลวภายในช่องท้องด้วย
สาเหตุของโรคตับอักเสบ
สาเหตุของการเกิดตับอักเสบแยกได้ 2 กรณี คือ ตับอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี) และตับอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (เกิดจากกิจวัตรประจำวันบางอย่าง)
สาเหตุของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบมักเกิดจากการติดมาจากผู้อื่น แต่ก็ไม่เสมอไป แม้ว่าไวรัสตับอักเสบส่วนใหญ่มักจะถูกถ่ายโอนจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลผ่านทางเลือดหรือของเหลวในร่างกาย เช่น อาจเกิดจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การฝังเข็ม การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งในกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
สำหรับโรคตับอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อาจจำแนกช่องทางที่เกิดการติดต่อของโรคได้คร่าวๆ ดังนี้
- ไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ผ่านทางการรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสซึ่งออกมาทางอุจจาระของผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ ในประเทศด้อยพัฒนาจะมีการแพร่กระจายของเชื้อตับอักเสบเอ มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
- ไวรัสตับอักเสบบี เป็นเชื้อโรคตับอักเสบชนิดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยสามารถติดต่อผ่านทางเลือดหรือของเหลวในร่างกาย จากแม่สู่ลูก จากการมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
- ไวรัสตับอักเสบซี เกิดจากการได้รับของเหลวจากร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี โดยตรง ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือติดต่อผ่านทางเลือดจากแม่สู่ลูก ประมาณกว่า 80% ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี มักป่วยเรื้อรังและเผชิญปัญหาสุขภาพระยะยาว หรืออาจป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ไวรัสตับอักเสบดี เป็นไวรัสชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อยมาก เกิดจากการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดดี จากเลือดของผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง อย่างไรก็ตาม ไวรัสตับอักเสบดีจะไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้หากไม่มีไวรัสตับอักเสบบีในร่างกายอยู่ก่อนแล้ว
- ไวรัสตับอักเสบอี อาจมีการติดเชื้อชนิดนี้จากการบริโภคน้ำดื่มหรืออาหารที่มีอุจจาระที่ติดเชื้อปนเปื้อนอยู่ พบได้มากในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลาง และแอฟริกา หรือในชุมชนที่มีปัญหาด้านสาธารณสุข ระบบจัดการน้ำไม่ดี น้ำดื่มปนเปื้อน หรือนิยมการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก
นอกจากนี้ โรคตับอักเสบยังมีสาเหตุที่เป็นไปได้อื่นๆ อีกมากมาย เช่น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง เพราะแอลกอฮอล์จะทำลายเซลล์ตับ นี่จึงเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดโรคตับอักเสบในเกือบทุกประเทศทั่วโลก
- การรับประทานยาบางประเภท เช่น ยาที่มีส่วนผสมของอะเซตามิโนเฟน (Tylenol) ในปริมาณสูงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งนี้ ยังมียังมียาประเภทอื่นๆอีกที่เป็นอันตรายต่อตับ เช่น ยาในกลุ่มเอ็นเสด ยาคุมกำเนิด ยาแก้อักเสบอะม็อกซีซิลลิน ยากลุ่มซัลฟา ยากลุ่มสแตติน ยาอะมิโอดาโรน ยาอะนาบอลิกสเตียรอยด์ ยาคลอร์โปรมาซีน ยาอิริโทรมัยซิน ยาเมทิลโดปา ยาไอโซไนอาซิด ยาเมโธเทรกเซท ยาเตตราไซคลีนและยากันชักบางชนิด เป็นต้น
- ไวรัสที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ นอกเหนือจากไวรัสตับอักเสบ เช่น ไวรัส Epstein-Barr
- ได้รับเชื้อจากแบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิตบางชนิด
- ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โจมตีเซลล์ตับของตัวเอง โดยสาเหตุนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับเพศหญิงได้มากกว่าเพศชายประมาณ 3 เท่า
ภาวะแทรกซ้อนของโรคตับอักเสบ
ผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ชนิดเรื้อรัง มักจะมีปัญหาสุขภาพแทรกซ้อนที่รุนแรงมากกว่าผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบแบบอื่นๆ เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตับโดยตรง ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ชนิดเรื้อรัง จึงมีความเสี่ยงที่อาการของโรคจะพัฒนาไปสู่โรคตับเรื้อรัง โรคตับแข็ง และ มะเร็งตับ
ที่น่ากลัวก็คือ เมื่อตับของคุณไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ก็อาจนำไปสู่ภาวะตับวายได้ ทั้งนี้ อาการแทรกซ้อนเมื่ออยู่ในภาวะตับวาย ได้แก่ อาการเลือดออกผิดปกติ อาการท้องมาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตล้มเหลว และโรคสมองจากโรคตับ (Hepatic Encephalopathy) ซึ่งทำให้เกิดความเมื่อยล้า สูญเสียความจำ และความสามารถทางจิตลดลง อันเกิดจากการสะสมของสารพิษ เช่น แอมโมเนีย ที่มีผลต่อการทำงานของสมอง
ยาที่ใช้ในการรักษาโรคตับอักเสบ
ในกรณีที่เป็นโรคตับอักเสบอันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบี แพทย์อาจจะจะให้ยาต้านไวรัสมารับประทาน ซึ่งมีหลายชนิดและยี่ห้อ เช่น Entecavir (Baraclude) ,Tenofovir (Viread), Lamivudine (Epivir), Adefovir (Hepsera) และ Telbivudine (Tyzeka) ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถต่อสู้กับไวรัสและชะลอการทำลายเซลล์ตับ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบางชนิด จะต้องรับประทานยาอยู่เนืองๆไปตลอดชีวิต โดยไม่หายขาด แต่การรักษาจะช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น และยังเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลรอบข้างอีกด้วย
แนวทางการรักษาโรคตับอักเสบ
แม้ว่าการรักษาโรคตับอักเสบจะต้องเริ่มจากการหาสาเหตุของการเกิดโรคให้พบก่อน และทำการรักษาที่ต้นตอดังกล่าว แต่โดยรวมแล้ว ผู้ป่วยสามารถประคับประคองอาการอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย เพื่อฟื้นฟูการทำงานของตับ ดังนี้
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- พักผ่อนให้มากขึ้น เพื่อลดการทำงานของตับและทำให้ตับฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย
- ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว
ออกกำลังกายเล็กน้อย แต่สม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยหรือบุคคลที่ดูแลผูป่วย ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ต้องรับประทานยาให้ตรงกับชนิดและปริมาณตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น หากมีประวัติการแพ้ยา ก็ต้องแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาทราบด้วย
แนวทางการป้องกันโรคตับอักเสบ
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย
- ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- อย่านำอวัยวะส่วนที่มีบาดแผลไปสัมผัสกับสารคัดหลั่งของคู่นอน (กรณีที่มีเพศสัมพันธ์)
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคตับอักเสบจำนวนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะโรคตับอักเสบชนิดไวรัสบี และยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังป่วย เนื่องจากผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับอักเสบหลายราย ไม่มีอาการใดๆปรากฏให้เห็นภายนอกอย่างชัดเจน ดังนั้น หากคุณไม่แน่ใจหรือรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคชนิดนี้ ก็ควรที่จะไปลองตรวจวินิจฉัยดู โดยแพทย์จะใช้วิธีต่างๆ ในการตรวจดังที่กล่าวไปข้างต้น