ไขมันพอกตับ กับเรื่องที่ควรรู้

ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ คืออะไร

ไขมันพอกตับ (Fatty liver) คือ ภาวะที่มีไขมันไปสะสมอยู่ในเซลล์ตับมากเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในเซลล์ตับ กล่าวคือมีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินในร่างกายมากเกินความต้องการจนตับนำไปสร้างเป็นไขมัน (Lipogenesis)

โดยปกติแล้ว อาหารประเภทไขมันที่ร่างกายได้รับจะถูกเผาผลาญที่ตับและเนื้อเยื่อต่างๆ แต่เมื่อร่างกายได้รับไขมันเกินความจำเป็น ไขมันส่วนเกินจะถูกสะสมในรูปเนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งจะค่อยๆพอก ตับของผู้ที่รับประทานอาหารประเภทไขมันในปริมาณที่มากเกินกว่าร่างกายจะจัดการได้ 

อีกสาเหตุหนึ่งของการมีไขมันสะสมในตับ คือ การที่ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนไขมันให้อยู่ในรูปแบบที่ถูกกำจัดออกได้ เมื่อตับมีไขมันสะสมอยู่มากกว่า 5% ก็จะนำไปสู่การเป็นโรคไขมันพอกตับ ซึ่งโดยปกติผู้ป่วยจะไม่มีอาการปรากฏเด่นชัด แต่อาจรู้ตัวว่าตนเองกำลังเป็นโรคนี้ได้โดยบังเอิญ บางรายอาจรู้สึกปวดหรือระคายเคืองบริเวณใต้ชายโครงด้านขวาและมีอาการอ่อนเพลีย นั่นคือช่วงที่โรคนี้กำลังฟักตัวและพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ 

ทั้งนี้ ตับที่มีไขมันสะสมอยู่มาก จะเกิดความเสียหายได้ง่าย ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบหรือการเกิดแผลในเนื้อตับ และบางครั้งอาจบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆด้วย

รูปไขมันพอกตับ
ขอขอบคุณภาพจาก https://www.reverseyourfattyliver.com

การวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินเหตุปัจจัยอันอาจก่อให้เกิดโรคไขมันพอกตับในเบื้องต้น ควบคู่ไปกับการตรวจทางรังสีวินิจฉัยด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงที่บริเวณช่องท้องด้านขวาบน เพื่อดูสภาพของเนื้อตับ ดูว่ามีการอุดกั้นของทางเดินท่อน้ำดีและมีก้อนเนื้อผิดปกติในตับด้วยหรือไม่ รวมถึงอาจตรวจวัดไขมันพอกตับจากการ Scan ด้วยเครื่อง (Whole Body) และ Fibroscan อันเป็นการตรวจความยืดหยุ่นพร้อมกับประเมินไขมันสะสมภายในเนื้อตับ เพื่อสำรวจความเสียหายของเนื้อเยื่อจากการมีไขมันไปทับถมกันอยู่

ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่หรือกว่า 50% ของผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักจะตรวจพบว่ามีสารชีวเคมีในตับและมีระดับเอ็นไซม์ Alanine transaminase (ALT) เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าระดับเอนไซม์ Aspartate transaminase (AST) อย่างผิดปกติ ส่วนในรายที่เป็นโรคไขมันพอกตับอันเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลตรวจที่ออกมาจะมีอัตราส่วนตรงกันข้าม (AST: ALT มากกว่า 2:1)

นอกจากนี้ การตรวจวินิจฉัยยังมักดำเนินควบคู่ไปกับการศึกษาภาพถ่ายจากอัลตราซาวด์ เพื่อให้กระบวนการประเมินผลเป็นไปอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ผู้ที่มีค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ค่า ALT AST ALP) ที่บ่งชี้ความผิดปกติของตับหรือตับโต แพทย์จะตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีไขมันพอกตับ จึงต้องทำการตรวจตับด้วยอัลตร้าซาวด์ โดยในภาพถ่ายจะปรากฏพบว่า เนื้อตับมีสีขาวมากขึ้นเมื่อเทียบกับเนื้อไต (Increased echogenicity) นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องตรวจแยกสาเหตุอื่นๆอีก เช่น สาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด สาเหตุจากยาบางชนิดและโรคภูมิคุ้มกันของตัวเองต่อตับ รวมถึงอาการที่เกิดจากจากไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ผลการตรวจชิ้นเนื้อตับโดยการเจาะตับเพื่อวินิจฉัย ซึ่งจะพบว่ามีไขมันอย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ของเซลล์ตับ  ทั้งนี้ แม้ว่าการเจาะตับจะถือเป็นหลักมาตรฐานในการวินิจฉัยโรค เพราะสามารถประเมินความรุนแรงของโรคได้ แต่ผู้ป่วยมักกลัวผลข้างเคียงและอันตรายของการเจาะตับ ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาในขั้นตอนดังกล่าว อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายถึงขั้นเสียชีวิตได้

สาเหตุของไขมันพอกตับ

สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ

สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคไขมันพอกตับเกิดจากภาวะที่ร่างกายสะสมไขมันมากเกินไปหรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเผาผลาญไขมัน กระทั่งมีไขมันส่วนเกินไปสะสมอยู่ในเซลล์ตับ ทั้งนี้ โรคไขมันพอกตับเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

  1. เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่เรียกว่า AFLD (Alcoholic fatty liver disease) ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ จากรายงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) ระบุว่า ผู้ป่วยชายที่ถือว่าเป็นโรคไขมันพอกตับชนิดนี้ มักจะมีปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 แก้วขนาดมาตรฐาน/วัน หรือมากกว่า 140 กรัมเอทานอลต่อสัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยหญิง มักจะมีปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 1 แก้วขนาดมาตรฐาน/วัน หรือมากกว่า 70 กรัมเอทานอลต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นปริมาณ 25% ของปริมาณแอลกอฮอล์ที่สามารถส่งผลเป็นพิษต่อตับ 
  2. โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือที่เรียกว่า NAFLD (Non-alcoholic fatty liver disease) จะมาจากเหตุปัจจัยอื่นๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผาญพลังงานของร่างกาย เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะดื้ออินซูลิน และเชื้อไวรัสตับอักเสบซี รวมถึงภาวะตับคั่งไขมันจากการอักเสบหรือที่เรียกว่า NASH (Nonalcoholic steatohepatitis) 
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับ

นอกจากนี้ โรคไขมันพอกตับอาจพัฒนาขึ้นจากผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด เป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) กลูโคคอร์ติซอล (Glucocorticoids) เตตราไซคลิน (Tetracycline) โอเอสโตรเจน (Oestrogens) เมโธเทรกเซท (Methotrexate) และยาธัลเลียม (Thallium) เป็นต้น

กลไกการเกิดโรคไขมันพอกตับ

ตับของคนเราทำหน้าที่เสมือนแบตเตอรี่เก็บสะสมพลังงาน แต่การรับประทานอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมัน หากตับไม่ได้นำไขมันไปใช้หรือไม่ย่อยสลายไขมันตามที่ควรจะเป็น ก็จะเกิดไขมันสะสมขึ้นที่ตับ ในผู้ที่มีภาวะของโรคอื่นๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมถึงผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปและผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหาร อาจทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับได้ อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ป่วยบางรายที่เกิดไขมันพอกตับได้ โดยไม่มีโรคเหล่านี้นำทางมาก่อน

ลักษณะอาการของไขมันพอกตับ

ลักษณะอาการของโรคไขมันพอกตับ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่เป็นโรคไขมันพอกตับจะไม่ปรากฏอาการทางร่างกาย หรือหากมีอาการบ้าง ก็มักจะเป็นอาการไม่สบายทั่วไป ซึ่งไม่เฉพาะเจาะจงมากพอที่จะบ่งบอกโรคได้ เช่น

  • มีอาการอ่อนเพลีย หมดแรง
  • คลื่นไส้อาเจียน 
  • รู้สึกหน่วงบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม

ด้วยเหตุดังกล่าว การตรวจพบโรคไขมันพอกตับส่วนใหญ่จึงมักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการเจาะเลือดตรวจสุขภาพประจำปี หรือจำเป็นต้องเข้ารับตรวจร่างกายทางการแพทย์ด้วยเหตุผลอื่นๆ ในกรณีผู้ป่วยที่มีตับแข็งแล้ว อาจตรวจพบลักษณะของโรคตับเรื้อรังร่วมด้วย การเจาะเลือดดูการทำงานของตับ อาจจะพบค่า AST และค่า ALT สูงกว่าปกติประมาณ 1.5 เท่า หรือมีค่า ALP สูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนค่าอื่นๆ จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ระยะการดำเนินโรค

ระยะการดำเนินโรคไขมันพอกตับ

โรคไขมันพอกตับสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบหรือพังผืดเกิดขึ้นในตับ
  2. ระยะที่เริ่มมีอาการอักเสบของตับ ในระยะนี้หากไม่ควบคุมดูแลให้ดีและปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อยๆ เกินกว่า 6 เดือน อาจนำไปสู่การเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง
  3. ระยะที่มีการอักเสบรุนแรง ก่อให้เกิดพังผืดจากแผลเป็นในตับ ซึ่งส่งผลให้เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลง
  4. ระยะที่เซลล์ตับถูกทำลายไปมากแล้ว กระทั่งตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป ส่งผลให้ตับแข็งและอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งตับในที่สุด

การดำเนินโรคในแต่ละระยะ มักจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีการอักเสบของตับร่วมด้วย จะมีอัตราการเกิดโรคตับแข็งตามมาน้อยกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการตับอักเสบ (NASH) ซึ่งมีโอกาสประมาณ 15% ที่จะเป็นโรคตับแข็ง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไขมันพอกตับ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไขมันพอกตับ

ภาวะไขมันพอกตับอาจแบ่งได้เป็น 4 ชนิด ตามพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อตับ ได้แก่

  1. ชนิดที่มีแต่ไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับอย่างเดียว แต่ไม่มีการอักเสบของตับร่วมด้วย
  2. ชนิดที่มีไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับ ร่วมกับมีการอักเสบของตับเล็กน้อย
  3. ชนิดที่มีไขมันคั่งสะสมในเซลล์ตับ และมีการบวมโตของเซลล์ตับ
  4. ชนิดนี้จะเป็นคล้ายชนิดที่ 3 แต่มีการตายของกลุ่มเซลล์ตับ และอาจมีพังผืดในตับร่วมด้วย

ทั้งนี้ ภาวะไขมันพอกตับชนิดที่ 3 และ 4 มีอัตราการดำเนินโรคจนเกิดตับแข็งได้ถึงร้อยละ 30 ในระยะเวลาประมาณ 10 ปี จากนั้น โรคอาจดำเนินต่อไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว หากไม่ควบคุมภาวะไขมันพอกตับอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ตับอักเสบและเกิดพังผืดในตับ และพังผืดสามารถขยายตัวมากขึ้น กระทั่งลุกลามไปจนตับเสื่อมสภาพ และหากไม่รีบรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ดังนี้

  • มีของเหลวคั่งจำนวนมากในช่องท้อง หรือที่เรียกว่า ท้องมาน
  • เส้นเลือดดำในหลอดอาหารโป่งพอง (Esophageal Varices) จนอาจทำให้เกิดการแตกของเส้นเลือด และมีเลือดออกได้
  • รู้สึกมึนงง ง่วงซึม พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง เนื่องจากโรคสมองจากตับ ซึ่งเป็นภาวะที่ตับวายและไม่สามารถกำจัดของเสียในร่างกายได้ ทำให้เกิดการคั่งของเสีย ส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติ
  • เกิดภาวะตับวายเฉียบพลันหรือระยะสุดท้าย ส่งผลให้ตับหยุดการทำงานโดยสิ้นเชิง
แนวทางการรักษาไขมันพอกตับ

แนวทางการรักษาไขมันพอกตับ

การรักษาโรคไขมันพอกตับแบบที่ไม่เน้นการใช้ยา จะมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยพื้นฐานขั้นแรกของการรักษาโรคไขมันพอกตับ คือ การลดน้ำหนักอย่างเหมาะสมและถูกหลักโภชนาการด้านสุขภาพ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีอาการแทรกซ้อน

ซึ่งโดยเฉลี่ยสำหรับบุคคลทั่วไปในยุคปัจจุบันนี้ ที่ส่วนใหญ่มักจะมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน แพทย์มักจะแนะนำให้ค่อยๆลดน้ำหนักลงประมาณ 10% ไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป เพราะการลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็วโดยการงดอาหารอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการฟื้นตัวและยังอาจให้ตับอักเสบอย่างรุนแรงได้  อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มากๆ การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่แพทย์อาจแนะนำ

นอกจากลดน้ำหนักและออกกำลังกายแล้ว การรักษาเพื่อประคองอาการทั่วๆไป รวมถึงการ:

  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม เนย กะทิ อาหารทะเล ไข่แดง ฯลฯ
  • ลดจำนวนมื้ออาหารในแต่ละวันลง โดยอาจจะงดมื้อเย็นหรือมื้อค่ำ
  • หมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
  • งดทานยาที่มีผลเสียต่อตับ โดยเฉพาะยาที่กล่าวไปข้างต้น

กรณีผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานแทรกซ้อน ควรรักษาโรคเบาหวานควบคู่กันไปอย่างเหมาะสม ที่สำคัญ ผู้ป่วยยังควรลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหากดื่มในปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม จะยิ่งทำให้อาการแย่ลง จึงควรลดปริมาณการดื่มลงให้เหมาะสมกับเพศและวัย หรือหากเป็นไปได้ก็ควรเลิกดื่มแบบถาวรเลย จะส่งผลดีที่สุดในระยะยาว ส่วนผู้ที่มีอาการเรื้อรังหรือรุนแรงจนถึงขั้นลุกลามไปเป็นโรคตับแข็งแล้ว แพทย์ก็สามารถทำการรักษาให้ได้ด้วยวิธีปลูกถ่ายตับ

ยารักษาไขมันพอกตับ

ยารักษาไขมันพอกตับ

ปัจจุบันยังไม่มียาตัวใดที่สามารถรักษาโรคไขมันพอกตับได้แบบเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีการทดลองใช้ยากับผู้ป่วยมาและพอจะเห็นผลดีขึ้น ได้แก่ 

  • ยาที่เพิ่มความไวต่ออินซูลิน เช่น ยา Rosiglitazone (Avandia) และ Metformin (Glucophage) 
  • ยาประเภท Anti-TNF เช่น ยา Infliximab (Remicade)
  • ยาเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เช่น Pentoxifylline (Trental)
  • สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี เบทาอีน และ S-Adenosylmethionine (SAMe)
  • กรด Ursodeoxycholic ซึ่งช่วยลดภาวะการอักเสบของตับ ทำให้การทำงานของตับดีขึ้น และยังช่วยลดภาวะร่างกายดื้อต่ออินซูลินด้วย

นอกจากยาประเภทต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการใช้สมุนไพรต่างๆ เพื่อช่วยบำรุงตับและล้างพิษต่อตับกันอย่างแพร่หลายมาแต่โบราณกาล ทั้งในยุโรปและเอเชีย ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์บางส่วนในปัจจุบันพบว่า สารพฤกษเคมีตามธรรมชาติบางอย่างในพืช อาจมีสรรพคุณทางการแพทย์ดังกล่าวจริง เช่น สารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟีนอลิก ฟลาโวนอยด์ และสารไตรเทอร์ปินอยด์

โดยสารเหล่านี้อาจมีคุณสมบัติช่วยป้องกันเซลล์ตับถูกทำลายจากสารพิษ โลหะหนัก หรือยาบางชนิด เป็นต้น อาหารเสริมบางชนิดก็สามารถทำหน้าที่ช่วยขับสารพิษออกจากตับได้ เช่น Milk Thistle,  Alpha Lipoic Acid (ALA) และ N-Acetyl-l-Cysteine (NAC) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ Glutathione อันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญมากที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ช่วยขับพิษออกจากตับ

แนวทางป้องกันโรคไขมันพอกตับ

แนวทางป้องกันโรคไขมันพอกตับ

มีการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟน้อยหรือไม่ดื่มเลย จะมีโอกาสเป็นโรคไขมันพอกตับได้มากกว่าผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเพียงทฤษฎีที่ยังต้องรอการพิสูจน์หรือมีผลการทดสอบออกมารองรับเพิ่มเติม แต่เราสามารถลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคไขมันพอกตับได้ด้วยการปรับเปลี่ยนหรือควบคุมกิจวัตรประจำวันให้ดีขึ้น เช่น

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูงและอาหารที่มีไขมันต่ำ นอกจากนี้ยังควรรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีแม็กนีเซียมสูง เช่น มะเดื่อฝรั่ง ผักโขม กล้วย และอะโวคาโด เพื่อช่วยป้องกันหรือลดการอักเสบของตับ
  • ลดปริมาณการรับประทานอาหารลงให้เหลือแค่พออิ่มในแต่ละมื้อ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้อาการโดยรวมต่างๆ ของภาวะไขมันพอกตับทุเลาลง และช่วยปรับความไวต่ออินซูลินของร่างกายให้สมดุลขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะการเลิกสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการสะสมของไขมันในหลอดเลือดได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ตับทำงานหนัก โดยควรปฏิบัติตามฉลากแนะนำการใช้ยาอย่างเคร่งครัด และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารเสริมหรือยาสมุนไพรใดๆ

สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์มาตรฐานตามสูตร ส่วนสูง – น้ำหนัก = 110 หากตัวเลขต่ำกว่านี้ ควรจะลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยด้วย เช่น 0.25 – 0.5 กิโลกรัม/สัปดาห์ จนกระทั่งน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ กับความเข้าใจ ‘ผิด’

  1. โรคไขมันพอกตับไม่ใช่เรื่องใหญ่ – ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็คงจะดี แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการรุนแรงใดๆ แต่หากปล่อยให้ไขมันพอกตับไปเรื่อย จะนำไปสู่ภาวะตับวาย ตับแข็ง หรือเกิดมะเร็งตับได้ ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
  2. โรคไขมันพอกตับเกิดขึ้นกับผู้ที่ดื่มสุราเท่านั้น – หากใครได้อ่านบทความจบแล้ว คงจะทราบว่า แม้แต่ผู้ที่ไม่เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้แต่จิบเดียวในชีวิต ก็สามารถเป็นโรคไขมันพอกตับได้เหมือนกัน
  3. การดื่มเหล้าทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงมากกว่าการดื่มเบียร์หรือไวน์ – ที่จริงแล้ว ความเสี่ยงจะมากหรือน้อย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเภทหรือดีกรีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณที่คุณดื่ม
  4. โรคไขมันพอกตับเกิดขึ้นได้ยาก – ถ้าเป็นสมัยก่อน อาจจะใช่ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ วิถีชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ส่งผลให้มีผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 20 – 25 และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทุกปี
  5. หากไขมันพอกตับแล้ว ตับจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้เหมือนเดิม – ข่าวดีก็คือ หากคุณรักษาโรคนี้ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันตามที่แนะนำข้างต้นแล้ว ไม่เพียงแต่จะหายเป็นปกติได้เท่านั้น แต่ในระยะยาว ตับของคุณยังอาจแข็งแรงกว่าเดิมได้ด้วย เนื่องจากมันเป็นอวัยวะเดียวในร่างกายที่พร้อมจะฟื้นฟูตัวเองอยู่แล้ว
  6. ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคไขมันพอกตับมากกว่าผู้ชาย – คำตอบก็คล้ายๆกับข้อ 3 นั่นคือ ถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจจะใช่ แต่ด้วยวิถีชีวิตสมัยใหม่ ทำให้จำนวนของผู้หญิงที่เป็นโรคนี้มีมากพอๆกับผู้ชาย 

ขอแนะนำอาหารเสริมแก้ปัญหาไขมันพอกตับ

อาหารเสริมแก้ปัญหาไขมันพอกตับ
สอบถามเพิ่มเติมคลิก
สอบถาม