ทำความรู้จักกับโรคไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต

โรคไขมันพอกตับ (Fatty Liver) หรือไขมันเกาะตับ เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมไขมันในเซลล์ตับมากเกินปกติ เมื่อเซลล์ตับมีไขมันมากเกินไปส่งผลให้ตับเกิดการอักเสบหรือเกิดรอยแผลเป็น และรอยแผลเป็นในตับนั้นอาจจะทำให้เกิดการตับวายที่ส่งผลอันตรายถึงชีวิต

ประเภทของโรคไขมันพอกตับ

1. โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (NAFLD) ผู้ป่วยที่เป็นไขมันพอกตับประเภทนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ แต่มีสาเหตุมาจากโรคต่างๆ ดังนี้

  • โรคเบาหวาน
  • โรคอ้วน
  • โรคไวรัสตับอักเสบ
  • โรคไขมันในเลือดสูง

2. โรคไขมันพอกตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์ (AFLD) ผู้ป่วยที่เป็นไขมันพอกตับประเภทนี้มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับปริมาณและระยะเวลาในการดื่มแอลกอฮอล์

ผู้ป่วยที่เป็นโรคไขมันพอกตับมักแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • เบื่ออาหาร
  • มีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ น้ำหนักลด
  • ร่างกายช้ำง่าย
  • มีอาการคันที่ผิวหนัง
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • อุจจาระสีซีด
  • มีอาการดีซ่าน
  • มีการบวมที่ขาและเท้า

การวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับ

1. การตรวจร่างกายเบื้องต้น วิธีการนี้เป็นการตรวจร่างกายจากภายนอก แพทย์จะทำการคลำหรือกดที่บริเวณท้อง ถ้าหากผู้ป่วยมีตับขนาดใหญ่ในช่องท้องแพทย์จะรู้สึกได้และสามารถคาดการณ์ได้เบื้องต้นว่าอาจจะเป็นโรคไขมันพอกตับ แต่ในขณะเดียวกันผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับบางคนก็มีขนาดตับไม่ใหญ่มาก เมื่อทำการคลำหรือกดที่ช่องท้องก็ไม่รู้สึกถึงการขยายตัวของตับ ผู้ป่วยบางคนแพทย์อาจจะไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นไขมันพอกตับ

2. การตรวจเลือด วิธีการนี้แพทย์จะตรวจดูว่าตับจะเกิดการอักเสบหรือเกิดความเสียหายหรือไม่ โดยดูจากเอนไซม์ Alanine Aminotransferase Test (ALT) เป็นเอนไซม์ที่บ่งบอกว่าตับเกิดความเสียหาย เมื่อมีเอนไซม์ชนิดนี้ในเลือดมากกว่าปกตินั่นหมายความว่าตับเกิดความเสียหาย แพทย์ก็จะทำการตรวจโรคเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยโรคให้มีความแม่นยำมากที่สุด เพื่อที่จะได้ประเมินว่ามีภาวะไขมันพอกตับหรือไม่

3. ตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (Fibro Scan) เป็นเครื่องตรวจไขมันในตับด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีความแม่นยำสูง ได้ผลเร็วโดยที่ผู้ป่วยไม่ได้รับความเจ็บปวดเลย

4. การตรวจด้วยภาพ แพทย์จะใช้ภาพถ่ายจากการตรวจสอบด้วยวิธีทางการแพทย์ดังต่อไปนี้ เพื่อทำการวินิจฉัยว่าเป็นไขมันพอกตับหรือไม่

  • การตรวจอัลตราซาวด์(Ultrasound)
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • การตรวจด้วยซีทีสแกน (CT scan)

5. การเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ เป็นวิธีการตรวจโรคไขมันพอกตับที่มีความแม่นยำมากที่สุด นอกจากนี้แล้วการตรวจด้วยวิธีนี้จะทำให้แพทย์ทราบถึงความรุนแรงของโรคไขมันพอกตับอีกด้วย

วิธีการป้องกันไขมันพอกตับแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง

  • งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ขยันออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อควบคุมน้ำหนักและได้ร่างกายที่แข็งแรงปลอดภัยจากโรค
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง อาหารที่มีรสหวาน เป็นต้น ให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น อาหารกากใยสูง อาหารอาหารที่มีไขมันต่ำ หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตน้อย
  • หลีกเลี่ยงการทานยาหรืออาหารเสริมนอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
  • ตรวจสุขภาพประจำปี

โรคไขมันพอกตับเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงมาก ถ้าหากสามารถวินิจฉัยโรคได้และรักษาอย่างรวดเร็วก็มีสิทธิ์หายป่วยจากโรคได้ การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นวิธีการป้องกันโรคไขมันพอกตับได้ดีและเห็นผลมากที่สุด

สอบถาม