ภาวะอ้วน (obesity) คือ ภาวะที่ร่างกายสะสมไขมันเลวมากเกินปกติจนทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญได้ส่งผลให้น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ที่ส่งผลเสียต่อร่างกายก่อให้เกิดโรคหลายๆ ประเภท เช่น โรคไขมันพอกตับ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ
รู้ได้อย่างไรว่าคุณมีภาวะอ้วนหรือไม่?
วิธีการตรวจดูว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่นั้นมีหลายรูปแบบ แต่วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การวัดจากดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) ที่ช่วยประเมินผลว่ามีภาวะโรคอ้วนหรือไม่ได้อย่างแม่นยำ สำหรับวิธีการประเมินดัชนีมวลกาย คือ
ดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / [ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง]
เกณฑ์ในการแบ่งดัชนีมวลกายเพื่อประเมินผลภาวะโรคอ้วน
- ค่าดัชนีมวลกาย < 18.5 = น้ำหนักตัวน้อย หรือผอม
- ค่าดัชนีมวลกาย 18.5 – 22.9 = ปกติ
- ค่าดัชนีมวลกาย 23.0 – 24.9 = มีน้ำหนักเกินเริ่มมีความเสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วน
- ค่าดัชนีมวลกาย 25.0 – 29.9 = อ้วนระดับ 1
- ค่าดัชนีมวลกาย ≥ 30.0 = อ้วนระดับ 2
สาเหตุของโรคอ้วน
สาเหตุของโรคอ้วนมักเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก แต่ในปัจจุบันสาเหตุของโรคอ้วนมักเกิดจากปัจจัยภายนอก เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ส่งผลให้พฤติกรรมการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากในสมัยอดีต ที่กระตุ้นให้มนุษย์มีความเสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วนมากยิ่งขึ้น
- ปัจจัยภายนอก
- การทานอาหารที่มีไขมันสูง มีน้ำตาลสูง และมีคาร์โบไฮเดรตสูง
- การไม่ออกกำลังกาย
- ปัจจัยภายใน
- พันธุกรรม
- ความเครียด
- การเผาผลาญของร่างกาย
- การทานยารักษาโรค
- การนอนหลับพักผ่อนน้อย
โภชนาการอาหารที่เหมาะสำหรับ “ภาวะโรคอ้วน”
- คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) สำหรับผู้ใหญ่ควรทานวันละในปริมาณร้อยละ 45-60 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน
- ไขมัน (Fat) สำหรับผู้ใหญ่ควรทานวันละในปริมาณร้อยละ 20-35 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน
- โปรตีน (Protein) สำหรับผู้ใหญ่ควรทานวันละในปริมาณร้อยละ 10-15 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน
- ทานผักเป็นประจำทุกวัน และควรทานผักที่เป็นประเภทของพืชหัวในปริมาณน้อย เช่น มันฝรั่ง มันสำปะหลัง เป็นต้น เนื่องจากว่าพืชหัวจะมีคาร์โบไฮเดรตสูง
- ทานผลไม้เป็นประจำทุกวันประมาณ 400 กรัม และควรทานผลไม้ที่มีรสหวานน้อย เช่น แก้วมังกร แอปเปิลเขียว ฝรั่ง เป็นต้น
อันตรายของโรคอ้วนที่ส่งผลต่อ “ตับ”
ภาวะโรคอ้วนส่งผลเสียต่อร่างกายตามมามากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ฯลฯ สำหรับโรคที่กล่าวมานั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (NAFLD) โรคนี้ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการมากนัก แต่ถ้าหากไม่รีบรักษาก็จะส่งผลให้เกิดการอักเสบที่ตับจนเกิดพังผืดและรอยแผลเป็นที่เซลล์ตับ ก่อเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด
เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงปลอดภัยจากโรคภัยต่างๆ เพียงแค่เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่เหมาะสม ขยันออกกำลังกายเป็นประจำ พร้อมกับตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขทั้งทางกายและทางจิตใจโดยห่างไกลโรค