เนื้องอกในตับ ระงับก่อนเป็นภัย

เนื้องอกในตับ ระงับก่อนเป็นภัย

เนื้องอกในตับ ตืออะไร ?

เนื้องอกหรือก้อนในตับ เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ดังนั้น เมื่อตรวจพบเนื้องอกในตับ ก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลหรือหวั่นใจไป สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยให้ได้ว่า ก้อนที่คลำพบดังกล่าวเป็นก้อนซีสต์หรือถุงน้ำในตับ ก้อนที่เกิดจากเส้นเลือดขอด เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา (Benign Liver Mass) หรือเป็นเนื้อร้าย (มะเร็ง) กันแน่

เนื้องอกในตับ
(ขอบคุณภาพจาก https://bangkokhatyai.com/)

ชนิดของเนื้องอกในตับ

หากไม่นับเนื้องอกชนิดที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งแล้ว ทางการแพทย์สามารถแบ่งเนื้องอกในตับได้เป็น 3 ชนิด ตามลักษณะการเกิดขึ้นของเนื้องอก ดังนี้:

  1. ก้อนเส้นเลือดขอดในตับ – เป็นเนื้องอกชนิดที่พบบ่อยที่สุดในตับ ซึ่งผู้ป่วยมักเป็นมาแต่กำเนิด ส่วนมากเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติขณะที่ทารกนั้นอยู่ในครรภ์ หรืออาจเป็นผลมาจากการใช้ยาคุมกำเนิดบางประเภท ตัวอย่างเนื้องอกในกลุ่มนี้ เช่น Mesenchymal Hamartomas, Adenomas และ Hemangiomas โดยเป็นเนื้องอกที่เกิดจากเนื้อเยื่อของหลอดเลือดในตับ มีขนาดตั้งแต่น้อยกว่า 1 เซนติเมตร ไปจนถึงขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร ทั้งนี้ ผู้ที่มีเนื้องอกชนิดนี้มักไม่มีอาการผิดปกติ แต่หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่เกิน 5 เซนติเมตรขึ้นไป อาจมีอาการปวดท้องเล็กน้อย
  2. ก้อนถุงน้ำหรือซีสต์ในตับ – เมื่อตรวจพบถุงน้ำในตับ โดยมากมักเป็นถุงน้ำตับแบบทั่วไป หรืออาจเป็นถุงน้ำของท่อน้ำดีในตับ รวมถึงถุงน้ำที่เกิดจากพยาธิในตับ ทั้งนี้ ผู้ที่มีเนื้องอกชนิดนี้มักมีอาการที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดท้อง แน่นท้อง หรือคลำพบก้อนบริเวณชายโครง
  3. ก้อนเนื้องอกธรรมดา – เป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่เนื้อร้าย พบได้บ่อยเป็นลำดับที่สองรองจากก้อนเส้นเลือดขอด โดยอาจเป็นก้อนเดี่ยวๆหรือหลายๆก้อนรวมกลุ่มกัน และพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ มันเป็นเนื้องอกชนิดที่ต้องดูแลและเฝ้าติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากตามสถิติพบว่า ก้อนเนื้องอกชนิดนี้สามารถแตกและทำให้มีเลือดออกเกิดขึ้นในตับ รวมถึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะกลายเป็น มะเร็งตับ ได้

สำหรับเนื้องอกที่เป็นมะเร็งตับนั้น จะพบได้น้อยที่สุด แต่ต้องใช้การรักษาที่ซับซ้อนกว่าและรุนแรงกว่า

สาเหตุของการเกิดเนื้องอกในตับ

การที่ดีเอ็นเอ (DNA) ในเซลล์ตับเกิดการกลายพันธุ์จนทำให้โครงสร้างเซลล์เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลให้เซลล์เติบโตขึ้นอย่างผิดปกติและพัฒนาเป็นเนื้องอกในที่สุด แม้ว่าสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างดังกล่าวจะยังไม่ปรากฏแน่ชัดก็ตาม

การวินิจฉัยเนื้องอกในตับ

ผู้ที่มีเนื้องอกในตับในเบื้องต้นมักจะยังไม่มีอาการทางร่างกายผิดปกติ และมักจะตรวจพบก้อนเนื้องอกโดยบังเอิญเมื่อมีการตรวจสุขภาพ ซึ่งแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น รวมถึงทำการตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ การตรวจอัลตร้าซาวด์ การตรวจด้วยวิธีแบบซีทีสแกน หรืออาจเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น      

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แพทย์จะสามารถวินิจฉัยจากผลการตรวจได้ว่า ก้อนเนื้อที่พบน่าจะเป็นเนื้องอกตับชนิดใด แต่หากผลการตรวจไม่แน่ชัด การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจในห้องแล็บ ก็จำเป็นในการวินิจฉัยให้แน่ชัดต่อไปว่า เป็นมะเร็งตับหรือไม่ ซึ่งหากผู้ป่วยมีภาวะความผิดปกติที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตมากกว่าปกติหรือมีภาวะที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อจำนวนมากภายในลำไส้ใหญ่ จะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งตับชนิด Hepatoblastoma ได้ ซึ่งในปัจจุบันมะเร็งตับเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตสูงสุดของคนไทยและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ 

อาการอันเกิดจากเนื้องอกในตับ

ในระยะเบื้องต้น ผู้ที่ตรวจพบเนื้องอกในตับหรือคลำพบก้อนแข็งที่ช่วงท้องด้านขวานั้น มักจะไม่มีอาการใดๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย กระทั่งเมื่อก้อนเนื้องอกดังกล่าวมีขนาดใหญ่โตขึ้น ก็อาจจะทำให้เกิดอาการต่อไปนี้ได้:

  • ท้องบวม
  • เจ็บปวดที่บริเวณตำแหน่งของตับ
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง 
  • กรณีผู้ป่วยเป็นเด็กโต จะมีภาวะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าปกติ

นอกจากนี้ หากเนื้องอกในตับไปกดทับเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อบริเวณข้างเคียง ก็อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวไปตามลำตัวช่วงบนและหลังได้

แนวทางการรักษาเนื้องอกในตับ

กรณีผลการตรวจพบว่า ก้อนเนื้อดังกล่าวเป็นเนื้องอกตับชนิดธรรมดา แพทย์อาจจะไม่จำเป็นต้องทำการรักษาหรืออาจทำการรักษาโดยขึ้นอยู่กับลักษณะของก้อนเนื้องอกในตับ ดังต่อไปนี้

  1. ก้อนเส้นเลือดขอดในตับ ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา
  2. กรณีที่เป็นถุงน้ำหรือซีสต์ แพทย์อาจใช้วิธีเจาะดูดน้ำออกเพื่อให้ถุงน้ำเล็กลง หรืออาจผ่าตัดออกในกรณีที่เป็นถุงน้ำขนาดใหญ่
  3. ก้อนเนื้องอกธรรมดา (Hepatic Adenoma) แพทย์อาจจะพิจารณาทำการผ่าตัดก้อนเนื้อชนิดนี้ออก เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ก้อนเนื้อจะแตกและทำให้เลือดออกที่ตับ รวมถึงเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งในอนาคต

ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตับชนิดที่ไม่เป็นเนื้อร้าย ควรระลึกไว้เสมอว่า เนื้องอกธรรมดาที่พบในตับ ยังสามารถแบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด ซึ่งหลังทำการผ่าตัดออกไปแล้ว จะสามารถกำจัดหรือบรรเทาอาการหนักๆหรือรุนแรงที่เกิดจากก้อนเนื้อแต่ละชนิดเหล่านั้นออกไปได้ แต่อาจยังมีอาการอื่นๆ หลงเหลืออยู่และกำเริบขึ้นได้เป็นครั้งคราว

ผลการรักษาเนื้องอกในตับ

โดยทั่วไปแล้ว โรงพยาบาลหลายๆแห่งในปัจจุบันทั้งโรงพยาบาลของรัฐฯและเอกชนต่างๆ (โดยเฉพาะคณะแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช) ต่างก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำการผ่าตัดเนื้องอกในตับด้วยวิธีส่องกล้อง หรือที่เรียกง่ายๆว่า ผ่าตัดผ่านกล้อง อันเป็นทางเลือกในการรักษาที่มีอัตราการประสบผลสำเร็จสูงและยังมีประสิทธิผล ดังนี้: 

  • รอยแผลจากการผ่าตัดมีขนาดเพียงเล็กน้อย
  • ลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด
  • ลดการเกิดแผลเป็น หรือพังผืดในช่องท้อง
  • นอนโรงพยาบาลน้อยลง
  • ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวและกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วขึ้น

ทั้งนี้ หากเนื้องอกที่ตรวจพบเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง แพทย์ก็จะทำการรักษาด้วยวิธีการขั้นสูงกว่าต่อไป ซึ่งมีหลากหลายวิธี

การรักษาเนื้องอกในตับที่เป็นเนื้อร้าย 

หากก้อนเนื้อหรือเนื้องอกที่ตรวจพบในตับเป็นเนื้อร้าย แพทย์จะเลือกให้การรักษาตามเทคนิคการรักษามะเร็งตับ จากวิธีการดังต่อไปนี้

  • เคมีบำบัดแบบดั้งเดิม ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการให้ผู้ป่วยรับประทานยาหรือฉีดยาเข้าไปทางหลอดเลือดแดงก็ได้ แต่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมากและเป็นวิธีที่ล้าสมัยไปแล้ว เนื่องจากยาเคมีบำบัดไม่ได้ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงที่เซลล์มะเร็งเท่านั้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติทั่วไปและการทำงานของอวัยวะอื่นๆ
  • เคมีบําบัดทางหลอดเลือดแดง (TACE) วิธีการนี้จะช่วยในการห้ามเลือดและหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก อีกทั้งยังทําให้เนื้อร้ายมีขนาดเล็กลง ซึ่งทําได้โดยการฉีดยาเข้าไปในหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเนื้องอกผ่านเส้นเลือดใหญ่จากหัวใจด้านซ้าย
  • ผ่าตัดเอาเนื้องอกและเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งวิธีรักษาด้วยการผ่าตัดออกนี้ จะเหมาะสมในผู้ป่วยมะเร็งตับ 20% ที่มีปัญหากลีบเนื้องอกตับเพียงข้างเดียว โดยที่การทํางานของตับส่วนอื่นๆ ยังปกติดีอยู่
  • ฉีดแอลกอฮอล์ เป็นวิธีที่ใช้ควบคู่ไปกับการอัลตราซาวด์หรือการสแกนด้วยคอมพิวเตอร์ เมื่อตําแหน่งของเนื้องอกได้รับการยืนยันแล้ว หลังจากนั้นจึงฉีดแอลกอฮอลที่มีความเข้มข้นประมาณ 95% ตรงเข้าไปยังจุดที่เป็นเนื้องอก
  • การจี้เนื้องอกด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFA) วิธีนี้จะใช้ความร้อนในการทําลายเนื้องอก โดยอุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 60 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดและตําแหน่งของเนื้องอก โดยจะผ่าออกผ่านทางผิวหนังหรือหน้าท้อง
  • การเปลี่ยนถ่ายตับ เป็นวิธีสําหรับผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดนำเนื้องอกออกจากตับได้ แต่ถ้าหากว่าเนื้องอกเจริญเติบโตจนมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซ็นติเมตรแล้ว การเปลี่ยนถ่ายตับอาจทำให้เชื้อมะเร็งแพร่กระจายไปยังตับที่ได้รับการเปลี่ยนใหม่ได้อีก
  • การนำรังสีเข้าสู่ร่างกายเฉพาะจุด (SIRT) วิธีนี้จะใช้การฉายรังสีเข้าสู่จุดที่เป็นเนื้องอกโดยเฉพาะ โดยจะฉีดตรงไปยังเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงตับโดยเฉพาะ จากการศึกษาพบว่า ประมาณกว่า 60% ของผู้ปวยมะเร็งตับระยะสุดท้ายมีการตอบสนองต่อวิธีการรักษาประเภทนี้
  • การฉายรังสีพลังงานสูงแบบ SABR เป็นวิธีการฉายรังสีภายนอกด้วยปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งก็จะสามารถควบคุมการลุกลามของมะเร็งได้และยังรักษาชิ้นส่วนอื่นๆ ของตับให้ทํางานได้ตามปกติด้วย 
รักษาเนื้องอกในตับ
(Photo: International Journal of Computer Assisted Radiology and Surgery)

นอกจากการรักษาโรคมะเร็งตับด้วยวิธีการต่างๆที่กล่าวมาแล้ว  ในปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องด้วยเทคโนโลยี 4K UHD หรือผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก 3 มิติ (Advanced 3D Laparoscopic surgery) ที่ให้ความคมชัดของภาพสูงมากยิ่งขึ้น สามารถช่วยให้ศัลยแพทย์เห็นอวัยวะภายในช่องท้องได้ชัดเจนขึ้น ประกอบกับความชำนาญของทีมแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้อง จึงช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก คนไข้หายเร็ว และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง ล่าสุดยังเริ่มมีการพัฒนาด้านการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic surgery) ในอวัยวะที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดตับ

แนวทางป้องกันการเกิดเนื้องอกในตับ

การหมั่นตรวจเช็คตับ ควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพประจำปีถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะอย่างน้อยแพทย์จะสอบถามประวัติ ความเป็นมาของอาการป่วยทั้งหลาย รวมถึงประวัติคนในครอบครัว เป็นตัวช่วยคัดกรองว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคหรือมีภาวะตับผิดปกติหรือไม่ ซึ่งตับผิดปกติอาจจะเริ่มจากภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งสามารถรักษาโรคตับอักเสบดังกล่าวได้โดยการจัดการที่ต้นเหตุ เพราะตับมีความสามารถที่จะฟื้นฟูตัวเองได้ ขอเพียงงดหรือลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้ายังคงดื่มหรือไม่ทราบปัจจัยเสี่ยง จะนำไปสู่การเกิดภาวะตับอักเสบโดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าปล่อยอาการไว้ต่อไปอีก อาจจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเนื้องอกในตับได้ ไม่ช้าก็เร็ว

เกร็ดความรู้เนื้องอกในตับ

  • เนื้องอกในตับชนิดธรรมดาที่เรียกว่า ฮีแมงจิโอมา (Hemangioma) และมักถูกเรียกว่า ‘ปานแดงที่ตับ’ เป็นเนื้องอกธรรมดาที่พบได้บ่อยมากที่สุดในตับ โดยพบว่า ในผู้ใหญ่จะมีเนื้องอกชนิดฮีแมงจิโอมานี้ มากถึงประมาณ 5%
  • อัตราความเสี่ยงที่เนื้องอกในตับจะแตกหรือกลายพันธุ์เป็นมะเร็งมีสูงถึง 10%
  • เคยมีรายงานศึกษาวิจัยระบุว่า ประชากรทั่วโลกอย่างน้อย 50% อาจจะเคยเกิดเนื้องอกในตับชนิดเส้นเลือดขอด ซึ่งยุบหายไปเองตามธรรมชาติ อย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงชีวิต โดยที่บุคคลเหล่านั้นไม่ได้ตระหนักรู้เลย เพราะไม่มีอาการปรากฏ
  • ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีเนื้องอกในตับชนิดถุงน้ำหรือซีสต์ จะมีเนื้องอกชนิดดังกล่าวจำนวนมากกว่า 2 ชิ้นขึ้นไป
  • กว่า 80% ของเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือเป็นมะเร็งของเซลล์ตับ (Hepatocellular Carcinomas) เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง
  • ในปัจจุบัน ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก ต้องอยู่พักฟื้นในโรงพยาบาลโดยเฉลี่ยประมาณ 7-10 วันหรือน้อยกว่านั้น

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก:
1) https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1119687
2) https://bangkokhatyai.com/

บทความเรื่องตับอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สอบถาม