ร้อนตับแตก แจก (สูตร) เครื่องดื่ม
หากจะบอกว่า “ประเทศไทยเรา กำลังก้าวเข้าสู่หน้าร้อน….” ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากเท่าไรนัก แม้กระทั่งหน้าหนาวที่ผ่านมา ก็ยังเรียกได้ว่า หนาวระยะสั้น ยังไม่ทันได้ซื้อเสื้อหนาวมาใส่กัน ดวงตะวันก็สาดแสงแดดเปรี้ยงๆ พร้อมกับคลื่นความร้อนมาอย่างไม่บันยะบันยัง ดังนั้น เราเลยอยากให้ผู้อ่านคลายเครียดด้วยการเขียนบทความเกี่ยวกับคำว่า ร้อนตับแตก กันสักหน่อยว่า มันมีที่มาอย่างไร และแหล่งข้อมูลใดอธิบายได้น่าเชื่อถือที่สุด
บ้างก็ว่า ร้อนตับแตก หมายถึง อาการร้อนจนตับและม้ามในร่างกายแทบแตกเป็นเสี่ยงๆ บ้างก็ว่า มันหมายถึง อาการร้อนใน แต่ที่เห็นจะถูกต้องและเชื่อถือได้มากที่สุด ตับที่ว่าก็น่าจะหมายถึง ‘ตับใบจาก’ ที่ใช้มุงหลังคา ไม่ใช่ตับคนหรือสัตว์ที่ไหน
กล่าวคือ “ร้อนตับแตก” ที่จริงแล้วไม่ได้หมายถึงตับที่เป็นอวัยวะหรือเครื่องในของคนเรา แต่มันหมายถึง ใบจาก ซึ่งชาวบ้านหรือชาวไทยโบราณเรามักจะนำมาผูกเย็บเรียงติดกันเป็นตับๆ มันแตกตัวหรือโก่งตัวเบียดกันระหว่างใบ แยกออกจากกันและทำให้เกิดเสียงดังเปรี๊ยะๆ โดยที่เราสามารถได้ยินเสียงลั่นเป็นระยะๆ
ดังนั้น ในสมัยโบราณ หากวันไหนแดดร้อนเปรี้ยงจนหลังคามุงจากแตกและมีเสียงลั่นระงมกันไปทั่วทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นๆ จึงมักเปรยว่า
“ช่างเป็นวันที่ร้อนตับแตกกันเสียจริ๊งงง” (ทำเสียงสูง)
เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว จะจบเอาดื้อๆเลยก็กระไรอยู่ และบังเอิญนึกขึ้นได้ว่า ในทางการแพทย์ระบุว่า อาการเหนื่อยเพลียของคนเรานั้น จะมากหรือจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับตับเป็นสำคัญ เนื่องเพราะตับมีหน้าที่ต่อร่างกายอย่างมหาศาล
ซึ่งโดยปกติตับก็มีธาตุร้อนและเปรียบเสมือนเตาไฟที่ลุกโชนอยู่ในร่างกายคนเราอยู่แล้ว เมื่อรู้สึกร้อนหลายคนจึงมักจะหาเครื่องดื่มเย็นๆ มาบรรเทาความร้อนนั้น โดยหารู้ไม่ว่ากำลังเอาน้ำเย็นๆ ไปราดบนเตาไฟ คือ ตับ ฉะนั้น จึงควรระวังอย่าดื่มเครื่องดื่มเย็นจัดโดยซัดเข้าไปทีละสองสามขวด และพยายามห่วงใยตับของเราให้มากกว่าความรู้สึกสบายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สุขภาพของเราจะได้ดีไปนานๆในระยะยาว
ทั้งนี้ เครื่องดื่มแก้ร้อนในกระหายน้ำ ไม่จำเป็นต้องดื่มแบบแช่เย็นหรือเติมน้ำแข็งใส่เสมอไป ที่จริงแล้ว เครื่องดื่มแก้ร้อนในส่วนใหญ่ ควรจะดื่มแบบ ‘อุ่นๆ’ หรือ ‘ร้อนแบบขลุกขลิก’ กันสักนิด จะยิ่งดีต่อตับด้วยซ้ำ ซึ่งตัวอย่างของเครื่องดื่มเหล่านี้ ได้แก่
น้ำจับเลี้ยง
ชาวจีนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้นำภูมิปัญญาการทำเครื่องดื่มน้ำจับเลี้ยงมาเผยแพร่ในประเทศไทย โดยรวบรวมเอาสมุนไพรหลายชนิดเข้าเป็นส่วนผสม ทั้งสมุนไพรไทยและจีน ดื่มได้ทั้งแบบร้อนและเย็น (แต่แน่นอนว่า ดื่มอุ่นๆ ดีที่สุด) สรรพคุณป้องกันและบรรเทาอาการร้อนใน
โดยเฉพาะอาการร้อนในที่เกิดจากสภาวะที่ร่างกายขาดความสมดุล เช่น นอนดึก พักผ่อนไม่พอ หรือกินแต่ของที่ทำให้ร้อน ของทอด หรือกินน้ำน้อย มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร มีแผลในปาก ปากหรือลิ้นเปื่อย มีฝ้า ขมคอ เจ็บคอ เสียงแหบ คอแห้ง ไอ และนัยน์ตาร้อนผ่าว โดยที่หากอาการดังกล่าวไม่รุนแรงมาก แพทย์แผนจีนจะแนะนำให้กินผักผลไม้บำรุงตับทั้งหลาย และแก้กระหายด้วยการต้มน้ำจับเลี้ยงดื่ม
น้ำจับเลี้ยงมีขายทั่วไป แต่บางย่านอาจเป็นของหายาก หากจะต้มดื่มเองก็เป็นความคิดที่ดี เพียงไปที่ร้านขายยาจีนหรือหาซื้อสมุนไพรจีนตามสูตรนี้ได้ไม่ยาก เช่น
- แห่โกวเช่า – แก้ไอ บรรเทาอาการเสียงแห้ง เป็นแผลในช่องปาก
- หล่อฮั้งก้วย – ละลายเสมหะ แก้เจ็บคอ คอบวม ท้องผูก
- ดอกงิ้ว – แก้ร้อนใน ขับความชื้นในร่างกาย ถอนพิษ แก้ท้องเสีย
- เปะเหม่ากึง (รากหญ้าคา) – ขับของเหลวของเสีย ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะสีเข้ม
- กำเช่า – ถอนพิษตับ แก้อาการหอบ อาการปวดท้องถ่ายเหลว
ร้านยาจีนสมัยนี้จะจัดชุดสมุนไพรจับเลี้ยงไว้ให้เสร็จสรรพเป็นห่อใหญ่ แม้ว่าสูตรของแต่ละร้านจะไม่ค่อยเหมือนกัน แต่ก็จะมีตัวยาจีนยืนพื้นเหมือนๆกัน อีกทั้งราคาก็ไม่ต่างกันนัก ตกราวห่อละ 40 – 50 บาท ที่สำคัญคือ การต้มน้ำจับเลี้ยงควรต้มสองน้ำ การต้มน้ำแรก ให้เอาจับเลี้ยงใส่หม้อ เติมน้ำราว 3-4 ลิตร ต้มจนน้ำเดือด ลดไฟอ่อน ต้มต่ออีก 10-15 นาที จากนั้น ตักเอากากออก ยกหม้อน้ำจับเลี้ยงน้ำแรกลง พักไว้ เอากากจากการต้มน้ำแรก มาใส่น้ำ 2-3 ลิตร ต้มต่อเป็นน้ำที่สอง พอได้น้ำที่สองแล้ว ตักกากทิ้งให้หมด เอาน้ำจับเลี้ยงน้ำแรกมาเทผสมรวมกัน ใช้ไฟอ่อนต้มให้เดือดอีกครั้ง
น้ำเก๊กฮวย
ถือกำเนิดจากพืชดั้งเดิมของประเทศจีนและญี่ปุ่น แต่ภายหลังได้แพร่กระจายไปทั่วในประเทศกัมพูชา ลาว รวมถึงบ้านเราด้วย โดยมีการจำหน่ายเป็นดอกสด สำหรับดอกเก๊กฮวยที่นำมาใช้ควรเป็นดอกสีขาวหรือดอกสีเหลือง และไม่ใช่สายพันธุ์ที่เก็บมาจากในป่าเพราะอาจเป็นคนละชนิดกัน โดยสามารถชงดื่มเองด้วยส่วนผสมง่ายๆ ได้แก่
- ดอกเก๊กฮวยแห้ง 10 ดอก
- ใบเตยหอม 1 กำมือ
- น้ำเปล่า
- น้ำตาลทรายแดง
สูตรการต้มน้ำเก๊กฮวย
- ล้างดอกเก๊กฮวยให้สะอาด นำไปผึ่งไว้ก่อนบนตะแกรง พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
- ต้มให้ให้เดือด จากนั้นก็ใส่ดอกเก๊กฮวยลงไป ต้มประมาณ 4-5 นาที
- ขณะรอน้ำเดือดให้ล้างใบเตยหอมที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาตัดเป็นท่อนสั้นๆ
- เมื่อน้ำเดือดให้ใส่ใบเตยลงไปแล้วปิดฝาหม้อทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที
- จากนั้นให้กรอกเอาแต่น้ำด้วยผ้าขาวบาง แล้วพักไว้ให้ร้อนพอประมาณ
- เติมน้ำตาลทรายแดง (เพื่อสุขภาพ) หวานมากหวานน้อยตามใจชอบ
ทั้งนี้ ดอกเก๊กฮวยประกอบไปด้วยสารจำพวกฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) สารไครแซนทีมิน (Chrysanthemin) สารอะเดนีน (Adenine) สเตไคดริน (Stachydrine) โคลีน (Choline) กรดอะมิโน และน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยรักษาและป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ รวมถึง:
- ช่วยขยายหลอดเลือด
- ลดการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
- ช่วยขับเหงื่อ กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย
- ช่วยดูดซับสารก่อมะเร็ง
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
- ช่วยบำรุงโลหิต
อย่างไรก็ดี อย่าคิดว่าสมุนไพรเป็นอะไรที่ได้จากธรรมชาติแล้วจะต้องปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะถ้าดื่มมากเกินไป บ่อยเกินไป ก็อาจเป็นพิษหรือมีผลข้างเคียงได้ จึงไม่ควรดื่มเหล่านี้ทุกวัน ดื่มเพียง 3 – 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็มากพอแล้ว
น้ำใบบัวบก
นอกจากจะแก้อาการฟกช้ำดำเขียวได้แล้ว น้ำใบบัวบกยังมีสรรพคุณดีๆ ที่ไม่ต้องรอให้เกิดอาการฟกช้ำ หรือแก้อาการอกหักรัดคุดอย่างที่ใครๆ ชอบแซวกันเล่น ซึ่งประโยชน์ดีๆ ของน้ำใบบัวบก ที่คุณอ าจไม่เคยรู้มาก่อน มีดังต่อไปนี้
- แก้อาการช้ำใน ลดอาการอักเสบ
- เสริมสร้าง และกระตุ้นการสร้างคอลาเจน และอิลาสตินให้ผิวหนังเปล่งปลั่ง
- ช่วยดูแลถนอมดวงตาและสายตา เพราะใบบัวบกมีวิตามินเอสูง
- บำรุงประสาทและสมอง เพิ่มควา มสามารถในการจำ
- ลดความเครียด แก้อาการปวด วิงเวียนศีรษะ
ที่สำคัญ น้ำใบบัวบกยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ร้อนใน แก้กระหายน้ำได้ชะงัดนัก แถมยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาภาวะโลหิตจางด้วย ทั้งนี้ หากคุณต้องการปรุงน้ำใบบัวบกเพื่อดื่มเองที่บ้าน เราก็มีสูตรมาฝากกัน:
- นำใบบัวบกทั้งช่อมาล้างน้ำให้สะอาด
- หั่นเป็นท่อนๆ ราว 2-3 ท่อน
- นำใบบัวบกมาปั่นรวมกับน้ำเปล่า โดยใส่น้ำเปล่าลงไปให้ท่วมใบบัวบก
- กรองเอาแต่น้ำมาดื่ม
- ปรุงรสด้วยน้ำผึ้งได้เล็กน้อยเพื่อลดความขม
น้ำใบบัวบกเป็นน้ำสมุนไพรที่ดื่มได้บ่อยกว่าน้ำเก็กฮวย โดยไม่มีผลข้างเคียง ทั้งนี้ วิธีดื่มน้ำใบบัวบกให้ได้สรรพคุณทางยาดีที่สุด ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ คือ ดื่มครั้งละ 150 – 200 มิลลิลิตร ทุกวันๆวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
ต่อไปนี้ร้อนตับแตกและกระหายน้ำเมื่อไหร่ อย่าลืมนึกถึงเครื่องดื่มที่เรากล่าวมา เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายของเราเย็นได้จากภายในแล้ว มันช่วยถนอมบำรุงตับให้กับคุณด้วย
ส่วนอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่ออากาศร้อนจัด ที่เรียกว่า ลมแดด (Heatstroke) จะไม่มีเหงื่อออก ทำให้ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน มึนงง และหายใจหอบ จนอาจทำให้หน้ามืดเป็นลมหมดสติ ไว้โอกาสเหมาะๆ เราจะเขียนถึงเรื่องนี้และนำมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน