ไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B Virus)

มารู้จักกับไวรัสตับอักเสบ บี

ไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B Virus)

โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นอาการอักเสบของตับที่เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (HBV) ไวรัสดังกล่าวจะทำร้ายเซลล์ตับและทำให้ตับเกิดการอักเสบ ในบางกรณี การติดเชื้อดังกล่าวอาจอยู่ในภาวะคงที่เป็นเวลาหลายปี ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อไม่ทราบว่าตนเองกำลังติดเชื้อในร่างกาย แต่เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแบ่งตัวและแพร่กระจายออกไปทำลายเซลล์ตับได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการอักเสบและทำลายการทำหน้าที่ของตับ

โรคไวรัสตับอักเสบบีนั้นแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ แบบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นแล้วหายภายใน 180 วัน และแบบเรื้อรัง ซึ่งจะมีอาการนานกว่า 180 วัน ทั้งนี้ สำหรับแบบเฉียบพลัน เมื่อมีการรับเชื้อไปแล้วราวสองสามเดือน จะมีอาการเป็นไข้ เป็นหวัด ปวดเมื่อยตามตัว และจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มมีอาการตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง ถ้าไปให้แพทย์ตรวจดู จะพบค่าการทำงานของตับสูงกว่าปกติ

การวินิจฉัย จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี?

การตรวจวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบี มีหลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่มักนิยมใช้กัน ได้แก่

  • การเจาะเลือดตรวจค่าการทำงานของตับ – เป็นการตรวจหาค่าต่างๆ เช่น ALT บิลลิรูบิน และปริมาณของ HBeAg ซึ่งก็คือโปรตีนที่อยู่บนผิวของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี นอกจากนี้ ยังมีการประเมินภาวะผังผืดในตับด้วยการเจาะตับ หรือการตรวจด้วยเครื่อง FibroScan หรือการเจาะเลือดเพื่อตรวจไบโอมาร์คเกอร์ สำหรับทำ FibroTest เพื่อประเมินสภาวะและความผิดปกติของตับด้วย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ทราบว่า ตับกำลังอักเสบอยู่หรือไม่
  • การเจาะเลือดตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี – หากผลตรวจ HBsAg ออกมาเป็นบวก แสดงว่าผู้ป่วยกำลังมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และหากพบว่า Anti-HBS หรือค่าภูมิคุ้มกันต่อ HBsAg ให้ผลเป็นบวก ก็แสดงว่า ผู้ป่วยดังกล่าวมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อและหายจากโรคมาแล้ว ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันจึงไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นและไม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอีก ทั้งนี้ การวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง จะต้องเจาะเลือดตรวจซ้ำอีกครั้งในระยะ 180 วันหลังจากวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีแบบเฉียบพลัน หากพบว่าร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ จึงจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง
  • การตัดชิ้นเนื้อจากตับไปตรวจ – แพทย์จะใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังเพื่อเก็บชิ้นเนื้อจากตับ การตรวจนี้ไม่ได้ทำในผู้ป่วยทุกราย แต่ทำเฉพาะในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่ต้องการติดตามการดำเนินไปของโรค เช่น ต้องการทราบภาวะพังผืดและระดับความรุนแรงของอาการอักเสบของเซลล์ตับ ซึ่งจะมีผลในการเริ่มต้นหาวิธีรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป
ไวรัสตับอักเสบ บี-2

สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบบี

หากจะกล่าวแบบตรงประเด็นแล้ว สาเหตุของการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี ก็คือการได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายนั่นเอง แต่ช่องทางที่เชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่ร่างกายนั้นมีหลายช่องทางหรือเกิดจากหลายกิจกรรม

การติดโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี

โรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีสามารถติดต่อทางเลือด น้ำเชื้อ และสารคัดหลั่งอื่นๆ เช่น น้ำเหลือง โดยสามารถรับเชื้อได้ผ่านช่องทางหรือกิจกรรมบางอย่าง ได้แก่ 

  • การร่วมเพศกับบุคคลที่มีเชื้อ โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • การใช้เข็มสักตามตัวหรือสีที่ใช้สักตามตัวร่วมกัน รวมถึงการเจาะหู เจาะจมูกด้วย
  • การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บร่วมกัน
  • การติดเชื้อขณะคลอดจากแม่ที่มีเชื้อ โดยลูกมีโอกาส 90% ที่จะติดโรค 
  • การสัมผัสกับเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง โดยผ่านเข้าทางบาดแผล

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสชนิดนี้จะไม่ติดต่อกันทางลมหายใจ อาหารหรือน้ำดื่ม การให้นม และการจุมพิตกัน หากในช่องปากไม่มีแผล แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็น โรคตับแข็ง และ มะเร็งตับ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 250 ล้านคน และในแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มากกว่า 6 แสนราย

ไวรัสตับอักเสบ บี

อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

อาการต่างๆ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะเกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อประมาณ 45-90 วัน บางรายอาจจะนานถึง 180 วัน ในระหว่างนั้น ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 จะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติใดๆ ในร่างกายเลย พวกเขาจะพบว่าตนเองติดเชื้อก็ต่อเมื่อไปตรวจเลือดเท่านั้น

ผู้ป่วยที่เป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ แน่นท้อง ถ่ายเหลว ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณสองสัปดาห์ หลังจากนั้น มักจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และปัสสาวะสีเข้มผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม อาการต่างๆ จะหายไปภายในช่วงระยะเวลา 10 สัปดาห์ เพราะการทำงานของตับจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติและมีภูมิคุ้มกัน กว่า 90% ของผู้ป่วยจะหายขาดจากอาการของโรคได้เอง นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่อาจตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยผลตรวจ HbAg เป็นบวก แต่การทำงานของตับยังคงเป็นปกติและสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 

ส่วนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคตับอักเสบแบบเรื้อรัง เมื่อทำการเจาะเลือดตรวจดู จะพบการทำงานของตับผิดปกติเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนและยังคงตรวจพบเชื้อตลอด ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการอักเสบของตับเป็นระยะๆ บางรายมีอาการเรื้อรังกระทั่งกลายไปเป็นโรคตับแข็งและบางรายก็กลายเป็นโรคมะเร็งตับ

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่ควรเฝ้าระวังของผู้ที่ติดโรคไวรัสตับอักเสบบี คือ การพัฒนาไปเป็นอาการติดเชื้อแบบเรื้อรัง เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากภาวะตับอักเสบบีเรื้อรัง ซึ่งรวมถึงโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ 

โรคตับแข็ง มักจะไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการใดๆ ที่สังเกตได้ จนกระทั่งเกิดความเสียหายต่อตับอย่างกว้างขวางมาสักช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งมักจะเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีหลังจากที่พวกเขาติดเชื้อครั้งแรก ก่อนที่อาการต่างๆเหล่านี้จะเริ่มปรากฏ:

  • อ่อนเพลียและไร้เรี่ยวแรง
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
  • รู้สึกป่วย มีไข้
  • มีอาการคันตามผิวหนัง
  • เจ็บปวดหรือเกิดอาการบวมในช่องท้อง
  • มีอาการบวมของข้อเท้า

ปัจจุบันในทางการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคตับแข็ง แม้ว่าจะเป็นไปได้ที่จะควบคุมอาการและชะลอการลุกลามของโรค แต่หากตับได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง อาจจำเป็นต้องทำการปลูกถ่ายต

ส่วนโรคมะเร็งตับ มักเกิดขึ้นประมาณ 1 ใน 20 ของจำนวนผู้ป่วยที่ติดโรคไวรัสตับอักเสบบีและลุกลามมาสู่การเป็นโรคตับแข็งในแต่ละปี ทั้งนี้ อาการของโรคมะเร็งตับ ได้แก่:

  • น้ำหนักลดแบบหาสาเหตุไม่ได้
  • เบื่ออาหาร
  • ป่วยและมีไข้
  • รู้สึกอิ่มมากหลังรับประทานอาหาร แม้ว่ามื้ออาหารจะมีขนาดเล็ก
  • ตัวเหลืองและตาเหลือง (ดีซ่าน)

กรณีของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีแบบเฉียบพลัน อาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงที่เรียกว่า ภาวะตับวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีตับและทำให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง อันก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เกิดความรู้สึกสับสน มีอาการบวมของท้องที่เกิดจากการสะสมของของเหลว มีอาการตัวเหลืองหรือดีซ่านอย่างรุนแรง ทั้งนี้ อาการตับวายเฉียบพลันสามารถทำให้ตับหยุดทำงานและมักเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

วิธีการรักษาไวรัสตับอักเสบี

วิธีรักษาโรคตับอักเสบ บี

ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่มีผลตรวจ HBeAg เป็นบวกหรือเป็นลบ สามารถเลือกใช้ยาได้ทุกขนาน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมของผู้ป่วยและระยะของโรค สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาหรืออยู่ในช่วงที่ไวรัสยังไม่มีการแบ่งตัว จะยังไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส แต่ควรได้รับการติดตามผลตรวจ ALT เป็นระยะๆ ทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน ก่อนที่ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังจะได้รับการรักษา ควรได้รับการประเมินและแนะนำอย่างละเอียด ซึ่งรวมถึงภาวะแทรกซ้อนของโรค ข้อห้ามในการใช้ยา การปฏิบัติตัวในระหว่างการรักษา ค่าใช้จ่ายในการรักษา และการติดตามผลในระยะยาว

ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีที่สมควรเข้ารับการรักษา ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีผลตรวจ HBsAg เป็นบวก เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน และมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไวรัสกำลังมีการแบ่งตัวอย่างมาก คือ มีปริมาณไวรัสมากกว่าหรือเท่ากับ 20,000 หน่วยต่อมิลลิลิตร ในกรณีที่ HBeAg เป็นบวก หรือปริมาณไวรัสมากกว่าหรือเท่ากับ 2,000 หน่วยต่อมิลลิลิตร ในกรณีที่ HBeAg เป็นลบ รวมถึงมีระดับ ALT มากกว่าหรือเท่ากับ 1.5 เท่าของค่าปกติอย่างน้อย 2 ครั้ง ในระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องไม่มีโรคอื่นที่เป็นสาเหตุหลักของอาการตับอักเสบ

วิธีรักษาไวรัสตับอักเสบ บี

ยาสำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี

แพทย์มักให้การรักษาโดยให้ยาต้านไวรัสประเภท Nucleoside/Nucleotide Analogue เช่น ยา Lamivudine ยา Tenofovir รวมถึงยา Interferon เป็นต้น โดยแพทย์จะเป็นผู้อธิบายให้ผู้ป่วยทราบถึงประโยชน์และข้อจำกัดของยาแต่ละชนิดเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสร่วมในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา เพราะยาที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบบีในปัจจุบัน มีทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน

แนวทางป้องกันการติดและเผยแพร่เชื้อไวรัส

การป้องกันการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เบื้องต้นสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงช่องทางการติดต่อของโรค อันเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค แต่วิธีที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกัน คือ การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี นอกจากนี้ คุณยังสามารถที่จะ:

  • เข้ารับการตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะการตรวจเลือดจะทำให้ทราบว่า ตับของคุณกำลังมีการอักเสบมากหรือน้อยเพียงใด
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างระมัดระวัง โดยการสวมถุงยางอนามัย
  • งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่ใช้ยาใดๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ

สิ่งที่น่ากลัวของไวรัสตับอักเสบบีคือ เมื่อมีการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่มีอาการป่วยใดๆปรากฏให้เห็น การดำเนินของโรคจึงเป็นไปอย่างเงียบๆ บางรายอาจมีไข้ หรือปวดเมื่อยเนื้อตัว ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา อย่างไรก็ดี ไวรัสตับอักเสบบีเป็นดีเอ็นเอไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยนิวเคลียสของตับเพื่อพัฒนาเป็นตัวไวรัสที่สมบูรณ์ และเมื่อพัฒนาตัวเองได้สมบูรณ์แล้วก็จะกระจายอยู่ในกระแสเลือดแล้วแพร่เชื้อสู่เซลล์อื่นๆ ต่อไป

ไวรัสตับอักเสบ บี-3

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบบี

  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี สามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งตับ
  • การฉีดวัคซีนป้องกัน ต้องฉีดให้ครบชุดจำนวน 3 เข็ม หลังจากนั้นวัคซีนจะกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นในร่างกาย หากตรวจเลือดแล้วพบว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบบีแล้ว ก็จะมีภูมิคุ้มกันดังกล่าวไปตลอดชีวิต 
  • ประชากรกว่า 1 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง และคร่าชีวิตชาวสหรัฐฯประมาณ 2,000 – 4,000 คน ในแต่ละปี
  • โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุการตายอันดับ 7 ของโลก และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 30 ล้านคนทั่วโลก
  • ผู้ที่มีอายุ 19 – 59 ปีที่เป็นโรคเบาหวาน มีแนวโน้มเป็นสองเท่าของผู้ที่ไม่มีโรคเบาหวาน ในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเฉียบพลัน
  • แม้ว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะไม่รู้สึกป่วย แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
  • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อเรื้อรัง (ตลอดชีวิต) ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับเรื้อรัง รวมถึงโรคตับแข็งและมะเร็งตับ
  • โอกาสที่จะติดโรคไวรัสตับอักเสบบีนั้น มีมากกว่าโอกาสที่จะติดเชื้อ HIV ถึง 100 เท่า
  • ไวรัสตับอักเสบบีถือเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่คุณสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสกับผู้ที่อยู่ภายนอกครอบครัวได้เช่นกัน
  • ทารกที่เกิดจากผู้หญิงที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีโอกาสสูงที่จะได้รับเชื้อจากมารดาของตน เว้นแต่ทารกเหล่านั้นจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีและภูมิคุ้มกันโกลบูลิน (Immunoglobulin) ตั้งแต่แรกเกิด

บทความเรื่องตับอื่นๆ ที่น่ารู้

สอบถาม