ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) ควรทานอะไรดี?

โรคไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) มีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และอี สำหรับไวรัสตับอักเสบเอ และดี จะติดผ่านอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ในส่วนไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี จะติดผ่านทางเลือดเป็นหลัก โรคไวรัสตับอักเสบเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อตับเป็นหลักทำให้ตับเกิดการอักเสบ และการอักเสบของตับสามารถเกิดได้ 2 รูปแบบ คือ

  1. ตับอักเสบเฉียบพลัน (acute hepatitis) ส่วนใหญ่จะมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ปัสสาวะมีสีเข้ม เบื่ออาหาร ตาเหลือง อาการผู้ป่วยจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไปพร้อมกับมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น
  2. ตับอักเสบเรื้อรัง (chronic hepatitis) ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังจะไม่แสดงอาการป่วยออกมาดูร่างกายแข็งแรงปรกติ จนเวลาผ่านไปสักระยะถึงจะเริ่มแสดงอาการเบื่ออาหาร อาการอ่อนเพลีย มีอาการบวม มีการอาเจียน เกิดความสับสนมึนงง สาเหตุที่ร่างกายแสดงอาการเหล่านี้นั้นเพราะว่าตับนั้นถูกทำลายจนได้รับความเสียหายและมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง จนทำให้ตับมีพังผืดเกิดขึ้นที่เนื้อตับ เมื่อพังผืดมีขนาดใหญ่เรื่อยๆ ก็ทำให้กลายเป็นตับแข็งในที่สุด

ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบไม่ว่าจะมีอาการตับอักเสบเฉียบพลันหรือตับอักเสบเรื้อรังมักจะมีร่างกายอ่อนเพลีย เนื่องจากว่าร่างกายได้มีการผลิตสารบางอย่างที่ทำให้ความอยากอาหารลดน้อยลง เมื่อทานอาหารน้อยลงร่างกายก็ไม่มีพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการในการดำรงชีวิต ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียเป็นส่วนมาก ดังนั้น การทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละมื้อจึงสำคัญอย่างมาก แต่ใช่ว่าเราจะเลือกทานตามใจปากได้เลย ยิ่งเฉพาะในผู้ป่วยยิ่งต้องเข้มงวดในการทานอาหาร เพราะแทนดีเราจะทานอาหารแล้วเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จะกลับกลายเป็นทานอาหารแล้วให้โทษแก่ร่างกาย

ประเภทของอาหาร

อาหาร (Food) เป็นสิ่งมนุษย์ทานเข้าไปแล้วให้ประโยชน์แก่ร่างกายและไม่ส่งผลเสียต่อผู้ทาน อาหารส่วนมากจะมาจากพืชและมาจากสัตว์เป็นหลัก ที่ช่วยในการเจริญเติบโต และช่วยเสริมสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย โดยแบ่งออกเป็น 5 หมู่ เช่น

อาหารหมู่ที่ 1 โปรตีน (Protein)

ในคนทั่วไปต้องการโปรตีน 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่สำหรับคนที่ออกกำลังกายหรือคนที่ใช้พลังงานค่อนข้างสูงในแต่ละวันจะต้องการโปรตีน 2-3 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โปรตีนสามารถพบได้จาก ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ ถั่ว เต้าหู้ ธัญพืช ฯลฯ และมีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายอย่าง เช่น ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ช่วยรักษาสมดุลของกรดด่างในร่างกาย ช่วยเพิ่มสมรรถภาพของกล้ามเนื้อให้ดียิ่งขึ้น ฯลฯ

อาหารหมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)

ในคนทั่วไปต้องการคาร์โบไฮเดรต 3-5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม คาร์โบไฮเดรตสามารถพบได้จาก ข้าว มันฝรั่ง แป้ง น้ำตาล ขนมปัง ฯลฯ และมีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายอย่าง เช่น ให้พลังงานแก่ร่างกาย  ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ฯลฯ

อาหารหมู่ที่ 3 เกลือแร่ (Dietary mineral)

สำหรับเกลือแร่มีทั้งหมด 16 ชนิด และเกลือแร่ในแต่ละชนิดร่างกายต้องการในปริมาณที่ต่างกัน เช่น

  • ทองแดง (Copper) 900 ไมโครกรัม/วัน
  • กรดโฟลิก (Folic Acid) 400 ไมโครกรัม/วัน
  • ไอโอดีน (Iodine) 150 ไมโครกรัม/วัน
  • ฟอสฟอรัส (Phosphorus) 700 มิลลิกรัม/วัน
  • แมงกานีส (Manganese) ผู้ชาย 2.3 มิลลิกรัม/วัน และในผู้หญิง 1.8 มิลลิกรัม/วัน

สำหรับเกลือแร่สามารถพบได้ที่ผักชนิดต่างๆ และมีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายอย่าง เช่น ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงดวงตา ฯลฯ

อาหารหมู่ที่ 4 วิตามิน (Vitamin)

สำหรับวิตามินมี 2 ประเภท ได้แก่ วิตามินละลายในน้ำ (วิตามินบี และวิตามินซี) และวิตามินละลายในไขมัน (วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค) วิตามินแต่ละประเภทร่างกายต้องการในปริมาณที่ต่างกัน เช่น

  • วิตามินเอ (Vitamin A) ผู้ชาย 900 ไมโครกรัม/วัน และในผู้หญิง 700 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินบี 3 (Vitamin B3) ผู้ชาย 16 มิลลิกรัม/วัน และในผู้หญิง 14 มิลลิกรัม/วัน
  • วิตามินซี (Vitamin C) ผู้ชาย 90 มิลลิกรัม/วัน และในผู้หญิง 75 มิลลิกรัม/วัน
  • วิตามินดี (Vitamin D) อายุ 1-70 ปี 15 ไมโครกรัม/วัน และในอายุ 70 ​​ปีขึ้นไป 20 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินอี (Vitamin E) 15 มิลลิกรัม/วัน

สำหรับวิตามินสามารถพบได้ในผลไม้ชนิดต่างๆ และมีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายอย่าง เช่น ต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ป้องกันโรคเกี่ยวกับดวงตา ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ฯลฯ

อาหารหมู่ที่ 5 ไขมัน (Fat)

ในคนทั่วไปต้องการไขมันประมาณ 44-77 กรัม/วัน และไขมันสามารถพบได้จากไขมันพืช ไขมันสัตว์ ฯลฯ และมีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายอย่าง เช่น เป็นแหล่งพลังงานให้แก่ร่างกาย ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ช่วยป้องกันอวัยวะภายในร่างกายไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ ฯลฯ

แนะนำอาหารสำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ

  • ธัญพืชไม่ขัดสี (Whole Grains) เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อตับและดีต่อสุขภาพผู้ป่วย สามารถพบได้ใน ขนมปังโฮลวีต ข้าวไรย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ข้าวกล้อง ฯลฯ
  • ผักและผลไม้ (Fruits and Vegetables) เป็นอาหารที่ดีต่อตับที่ย่อยได้ง่าย ช่วยให้ตับฟื้นฟูอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น และยังเต็มไปด้วยสารอาหารที่ร่างกายต้องการ แต่ที่สำคัญที่สุดคือมีสารต้านอนุมูลอิสระปกป้องเซลล์ตับของผู้ป่วย
  • อาหารในกลุ่มไขมัน เช่น น้ำมันคาโนลา (Canola Oil) น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ (Flaxseed oil) โดยน้ำมันเหล่านี้เป็นไขมันไม่อิ่มตัวที่ร่างกายต้องการ เต็มไปด้วยสารอาหารที่สำคัญที่มากมาย 
  • ถั่ว ไข่ นมไขมันต่ำ หรือเนื้อไม่ติดมัน เป็นอาหารอีกประเภทที่ส่งผลดีต่อสุขภาพตับของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ
  • กาแฟ (Coffee) ที่ไม่ใส่นมหรือน้ำตาลเพิ่มความหวาน สำหรับกาแฟถือว่าเป็นเครื่องดื่มส่งผลดีต่อตับ ช่วยลดการเกิดพังผืดในผู้ป่วยตับอักเสบ
สอบถาม