โรคตับแข็ง (Cirrhosis) เป็นภาวะของตับที่รับความเสียหายเป็นระยะเวลานานจนเกิดรอยแผลเป็นถาวร ซึ่งมีลักษณะเป็นพังผืดเกิดขึ้นที่บริเวณตับ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับลดลง โดยปัจจัยที่ส่งผลเกิดภาวะตับแข็งมีดังนี้
- การดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานาน
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี
- รับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- เกิดภาวะไขมันพอกตับ
- ฯลฯ
โรคตับแข็งเป็นโรคอันตรายถึงชีวิต เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคตับแข็งนั่นหมายความว่าคุณเป็นโรคตับระยะสุดท้าย ความเสียหายที่เกิดขึ้นในตับจะมีลักษณะเป็นแผลเป็นคล้ายพังผืด และถ้าหากไม่รีบทำการรักษาอย่างรวดเร็วผู้ป่วยโรคตับแข็งก็อาจจะมีอาการทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้ป่วยก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งตับเพิ่มสูงมากขึ้น ซึ่งเมื่อเป็นโรคมะเร็งตับแล้วมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตสูงอย่างมาก
อาการของผู้ป่วยโรคตับแข็ง
- น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง
- มีผิวที่ช้ำและเลือดออกง่าย
- อาการดีซ่าน (มีผิวเหลืองและตาขาว)
- มีการบวมที่ขา เท้า และข้อเท้า
- มีเลือดปนอยู่ในอุจจาระ
- มีอาการสับสน มึนงง คิดยาก ความจำเสื่อม หรือบุคลิกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ในผู้ชายจะสูญเสียความต้องการทางเพศ อัณฑะหดตัว และหน้าอกขยายขนาดใหญ่ขึ้น
- ในผู้หญิงจะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
วิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง
1. เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต
ผู้ป่วยเป็นโรคตับแข็งบางส่วนมีการดำเนินชีวิตแบบผิดๆ ที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้นถ้าเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้น ก็จะลดความรุนแรงของโรคตับแข็งและลดภาวะการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น
- งดสูบบุหรี่
- งดดื่มแอลกอฮอล์
- ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามสุขอนามัยที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่อาจจะส่งผลก่อให้เกิดโรคตับแข็ง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
- ลดอาหารที่มีรสจัด
2. เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์
เมื่อป่วยเป็นโรคตับแข็งผู้ป่วยส่วนมากจะได้รับสารอาหารและพลังงานที่ไม่เพียงพอต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดภาวะผิดปกติ เช่น ร่างกายอ่อนล้า ความแข็งแรงของร่างกายลดลง เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรที่จะทานอาหารที่ดีและเหมาะสมแก่ตัวเอง เช่น
- ผู้ป่วยโรคตับแข็งจะมีการบวมที่เท้า ขา ข้อเท้า การลดปริมาณเกลือในแต่ละวันจะช่วยลดอาการบวมเหล่านี้ เพราะเกลือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบวมในร่างกาย
- ตับทำหน้าที่สะสมคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในรูปแบบของไกลโคเจน และไกลโคเจนเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย แต่เมื่อตับเกิดความเสียหายทำให้ไกลโคเจนมีปริมาณน้อยลง ทำให้มีพลังงานไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตส่งผลให้ร่างกายเกิดความอ่อนแอ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่มากขึ้น เช่น ข้าว แป้ง ถั่วเมล็ดแห้ง (ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ) น้ำตาลทราย ไข่ ฯลฯ
- ทานอาหารพวกผัก และผลไม้ เพื่อช่วยให้การขับถ่ายนั้นทำงานได้ปกติ
3. การปลูกถ่ายตับ
การป่วยเป็นโรคตับแข็งจะทำให้ผู้ป่วยมีแผลเป็นที่ตับไปตลอดชีวิต เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ความเสียหายนั้นรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตนั้นเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การปลูกถ่ายตับเพื่อช่วยชีวิตถือว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่การปลูกถ่ายอวัยวะต้องใช้เวลา เพราะนอกจากต้องรอผู้บริจาคอวัยวะแล้ว ยังต้องตรวจสอบว่าอวัยวะที่ได้บริจาคมานั้นเหมาะกับร่างกายผู้ป่วยหรือไม่ ถ้าหากอวัยวะไม่เหมาะสมก็ไม่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ เพราะถ้าทำการปลูกถ่ายจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อผู้รับอวัยวะ
4. หลีกเลี่ยงการทานยานอกจากที่แพทย์สั่ง
ผู้ป่วยโรคตับแข็งไม่สามารถรักษาหายขาดได้ จึงต้องมีการทานยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้อาการป่วยนั้นคงที่ ซึ่งการทานยารักษาโรคตับแข็งนั้นก็มีจำนวนมากอยู่แล้วในแต่ละวัน ดังนั้น ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรหลีกเลี่ยงการทานยานอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง เพราะการทานยาจำนวนมากอาจจะทำให้ตับเสียหายมากกว่าเดิม
เพียงแค่ดูแลร่างกายตัวเองตามขั้นตอนง่ายๆ เหล่านี้ คุณก็จะได้สุขภาพที่แข็งแรงและห่างไกลจากโรค