ตับโต (Hepatomegaly / Enlarged liver) คืออะไร ?
ตับโต (Hepatomegaly/ Enlarged liver) แท้จริงไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่ตับมีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่าปกติ อันเป็นผลมาจากการที่เนื้อเยื่อตับทำงานไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เป็นอาการข้างเคียงโรคบางชนิด หรืออาจเกิดจากกรรมพันธุ์ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย (โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ)
ทั้งนี้ หากปล่อยให้ตับโตไปเรื่อยๆ โดยไม่เร่งทำการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การวินิจฉัยภาวะตับโต
แพทย์อาจตรวจพบอาการตับโตได้ขณะตรวจร่างกาย ด้วยการคลำและรู้สึกได้ว่ามีการสัมผัสถูกตับ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ตั้งอยู่บริเวณชายโครงด้านขวา เนื่องจากหากตับอยู่ในสภาพปกติ จะไม่สามารถคลำพบได้จากภายนอกหรือด้วยนิ้วมือ อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาเพื่อยืนยันภาวะตับโต แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนี้
- ตรวจด้วยอัลตราซาวด์ อันเป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียง เพื่อประเมินสภาวะของตับและอวัยวะอื่นๆ ภายในช่องท้อง
- ตรวจค่าเอ็นไซม์ตับ เพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของตับ
- ตรวจเอ็กซเรย์ช่องท้อง เพื่อประเมินสภาวะของอวัยวะภายในช่องท้อง
- ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) เพื่อให้เห็นภาพแบบจำเพาะเจาะจงของอวัยวะภายในช่องท้อง
- ตรวจแบบ CT Scan เพื่อให้ได้ภาพสแกนภายในช่องท้องที่มีความละเอียดยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจทำการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อดูว่ามีความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดหรือไม่ หากแพทย์ที่ทำการรักษาสันนิษฐานว่า ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการมีภาวะอาการที่ร้ายแรง แพทย์อาจแนะนำให้ทำเก็บชิ้นเนื้อที่ตับไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
สาเหตุของภาวะตับโต
ภาวะตับโตมักจะเกิดขึ้นจากการ ดื่มสุราเรื้อรัง อีกทั้งยังอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ ผู้ที่มีกระบวนการย่อยอาหารผิดปกติ ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี และโรคหัวใจบางชนิด รวมถึงผู้ที่มีโรคหรือภาวะดังต่อไปนี้
- โรคไขมันพอกตับประเภท NAFLD
- โรควิลสัน (Wilson’s disease)
- โรคเกาเชอร์ (Gaucher’s disease)
- ภาวะผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด
- ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
- ภาวะเหล็กเกินขนาด (Hemochromatosis)
- ภาวะตับอักเสบจากสารพิษ
- ภาวะท่อน้ำดีหรือถุงน้ำดีอุดตัน ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบภายในตับ
- ภาวะซีสต์ในตับ หรือการมีถุงของเหลวเกิดขึ้นภายในตับ
- โรคมะเร็งตับ (Liver Cancer)
- โรคตับแข็ง (Cirrhosis)
- โรคตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส (Viral hepatitis)
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา หรือมะเร็งของเซลล์เม็ดเลือดขาว (Plasma cells) ในไขกระดูก
- โรคมะเร็งที่มีเนื้อร้ายแพร่กระจายมาที่ตับ
- โรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก ไทฟอยด์ ฝีในตับ
นอกจากนี้ ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมก็มีส่วนทำให้เกิดตับโตได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีบุคคลในครอบครัว มีประวัติเป็นโรคอ้วน โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคตับอักเสบชนิดเรื้อรัง และโรคโลหิตจางบางชนิด
เหตุใดผู้เป็นไข้เลือดออกจึงอาจมีภาวะตับโต
เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกลไกการดำเนินของโรค เพราะไข้เลือดออกเกิดจากการที่มีการรั่วของพลาสม่าเข้าในช่องเยื่อหุ้มปอด ในช่องท้อง มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และเกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย ดังนั้น เมื่อมีการรั่วของสารน้ำในหลอดเลือด จะทำให้ผู้ป่วยมีตับโตอันเกิดจากการภาวะตับบวม (Liver congestion) จากสารน้ำในเลือด โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณท้องช่วงขวาบนหรือลิ้นปี่ นอกจากนี้ ในระยะดังกล่าวยังสามารถเกิดการรั่วของสารน้ำในบริเวณอื่นๆของร่างกายได้อีก และเกิดน้ำในช่องปอดหรือน้ำในช่องท้องได้เช่นกัน
ลักษณะอาการของตับโต
หากตับโตขึ้นเองตามปกติโดยที่ไม่ได้เกิดจากโรคอื่น จะไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ ขึ้นทั้งสิ้น แต่ถ้าตับโตโดยมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ อาจพบอาการต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง คลำพบก้อนที่บริเวณช่องท้อง
- เบื่ออาหาร
- มีไข้และน้ำหนักลด
- ขาและเท้าบวม
- เกิดรอยฟกช้ำได้ง่าย
- มีอาการคันทั่วตัวหรือเฉพาะจุด
- ฝ่ามือแดง
- มีไฝหรือจุดแดงรูปแมงมุม ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่ขยายตัวจากจุดแดงตรงกลาง
- ท้องบวมหรือมีขนาดใหญ่ขึ้น
- อาการดีซ่านหรือตัวเหลือง ตาเหลือง
ทั้งนี้ หากพบอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีไข้ขึ้นสูงมาก อาเจียนเป็นเลือด หายใจลำบาก และ/หรือมีเลือดปนออกมากับอุจจาระร่วมกับภาวะตับโต ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ภาวะแทรกซ้อนของตับโต
ภาวะแทรกซ้อนและความรุนแรงของอาการตับโตขึ้นอยู่กับโรคหรือภาวะผิดปกติที่เป็นสาเหตุด้วย โดยการรักษาจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็ต่อเมื่อตรวจพบและรักษาตั้งแต่ในระยะแรกๆ แต่หากตรวจพบช้าหรือไม่ได้รับการรักษาจนกระทั่งมีอาการรุนแรง อาจทำให้ตับเกิดความเสียหายจนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่รักษาไม่หาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยตลอดไปได้ ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะตับโตควรดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างด้วย เช่น ถ้ามีอาการตับอักเสบก็ควรงดดื่มสุราเป็นปีหรืองดดื่มตลอดไป เป็นต้น
แนวทางการรักษาตับโต
การรักษาภาวะตับโต ส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะควบคุมอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ส่วนทางเลือกในการรักษาทางตรง จะขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะตับโต แต่โดยทั่วไปแล้วแพทย์มักจะรักษาด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- การทำเคมีบำบัด รังสีบำบัด และการผ่าตัด สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะตับโตอันเกิดจากการมีก้อนมะเร็งที่ตับ
- การปลูกถ่ายตับ สำหรับผู้ป่วยที่ตับถูกทำลายไปบางส่วนแล้ว
- การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว ขึ้นอยู่กับชนิด ระดับการแพร่กระจาย และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย
- การรักษามะเร็งทั่วไปในระยะแพร่กระจายที่จุดเริ่มต้นของมะเร็ง เพื่อป้องกันการลุกลามไปที่ตับ ซึ่งอาจส่งผลทางอ้อมให้เกิดภาวะตับโตได้
นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ งดดื่มแอลกอฮอล์ และหยุดการใช้ยาบางชนิดที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะตับโต
ส่วนเรื่องการบริโภคอาหาร ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะตับโต ควรเน้นรับประทานอาหารจำพวกโปรตีน โดยเฉพาะโปรตีนจากพืช (เช่น ถั่วเหลือง) ถ้าผู้ป่วยรายใดมีอาการเบื่ออาหารมากๆ ควรดื่มน้ำหวานหรือรับประทานของหวานเพื่อเป็นการชดเชยสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และหากผู้ป่วยรายใดมักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือท้องอืดท้องเฟ้อเกิดขึ้นบ่อยๆ ควรงดรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูงหรืออาหารทอดและอาหารย่าง
ภาวะตับโต รักษาให้หายขาดได้หรือไม่
การรักษาให้หายขาด ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น เช่น ถ้าเกิดจากภาวะตับอักเสบอันเกิดจากไวรัสชนิดที่ไม่รุนแรง หรือไม่มีภาวะแทรกซ้อนในถุงน้ำดี ก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าเป็นภาวะตับโตที่มีโรคตับแข็งร่วมด้วย ผู้ป่วยมักจะเป็นเรื้อรังไปตลอดชีวิต
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อภาวะตับโต
- ผู้ที่ป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่ง (หรือหลายโรครวมกัน) อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตับโต ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน
- ผู้ที่จำเป็นต้องทำงานหรืออยู่ในสถานที่ๆมีการใช้สารเคมีหรือสารพิษต่าง
- ผู้ที่ติดสุราและ/หรือบุหรี่
- ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหาร
ยารักษาภาวะตับโต
ในการใช้ยารักษาภาวะตับโต แพทย์มักจะใช้ยารักษาตามอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น หรืออาจเลือกใช้ยาสำหรับรักษาภาวะตับวายหรือตับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบางชนิดร่วมด้วย เช่น ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี (ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) ยาเลดิพาสเวียร์ – โซฟอสบูเวียร์ (Ledipasvir-Sofosbuvir) และยาไรบาไวริน (Ribavirin))
แนวทางป้องกันตับโต
เนื่องจากมีปัจจัยด้านพฤติกรรมหลายอย่างที่ทำให้เกิดภาวะตับโต ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้ เช่น
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีโภชนาการครบถ้วน โดยเฉพาะอาหารจำพวกโปรตีน รวมถึงธัญพืช ผัก และผลไม้ต่างๆ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและออกกำลังกายเป็นประจำ
- ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดความถี่ในการสูบบุหรี่ลง
- ระมัดระวังในการใช้สารเคมีต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น โดยควรใช้สารเคมีในบริเวณที่ระบายอากาศได้ดีหรือสวมถุงมือและหน้ากากป้องกัน
ภาวะตับโตเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงยากที่จะป้องกันได้ทั้งหมด แต่บุคคลทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงานของตับ นอกจากนี้ บุคคลทั่วไปยังควรที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารเสริม สมุนไพร และวิตามินต่างๆ เพราะสมุนไพรหลายชนิดสามารถก่อให้เกิดอันตรายหรืออาจส่งผลกระทบต่อตับได้