ไวรัสตับอักเสบ ดี (Hepatitis D Virus) คืออะไร ?
โรคไวรัสตับอักเสบ ดี (HDV) เป็นโรคติดต่อที่พบได้น้อยมาก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะจำกัดตัวอยู่ใน กลุ่มผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นและกลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ อีกทั้งยังพบได้มากในกลุ่มประเทศโซนยุโรปมากกว่าในประเทศไทยหรือในเอเชีย มันเป็นไวรัสที่แฝงมากับ ไวรัสตับอักเสบ บี และต้องอาศัยองค์ประกอบของไวรัสตับอักเสบบีในการแบ่งตัว ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบดีต้องมีเชื้อไวรัสชนิดบีอยู่ในร่างกายอยู่ก่อนแล้ว หรืออาจติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้มาพร้อมๆ กัน
การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ ดี
เมื่อแพทย์ทำการตรวจเลือดของผู้ที่ป่วยหรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดี จะพบค่า HbAg ,IgM anti-HDV และ IgG anti-HDV ให้ผลเป็นบวก ส่วนในรายที่เป็น โรคไวรัสตับอักเสบ บี อยู่ก่อนแล้วและมาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี ในภายหลัง จะตรวจเลือดพบว่า:
- มีจำนวนเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในปริมาณน้อย
- มี HDAg และ HDV ในกระแสเลือด
- มี IgM และ IgG anti-HDV จำนวนมากในกระแสเลือด
ทั้งนี้ การวินิจฉัยเบื้องต้นจะขึ้นอยู่กับสัญญาณบ่งบอกและอาการที่ปรากฏ ก่อนที่จะยืนยันด้วยการตรวจเลือดหรือตรวจด้วยวิธีการสังเคราะห์ดีเอ็นเอแบบปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (PCR) ในห้องปฏิบัติการทางพยาธิวิทยา
สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบ ดี
โรคไวรัสตับอักเสบดีเกิดจากเชื้อไวรัสขนิดอาร์เอ็นเอ (RNA Virus) ที่มีขนาดเล็กสุดที่มีการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งนี้ ในแต่ละประเทศมีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดี จำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี โดยนับตั้งแต่การค้นพบโรคไวรัสตับอักเสบดีในปี พ.ศ. 2520 ถึงปัจจุบัน พบผู้ที่ติดเชื้อดังกล่าวเพียงประมาณ 15 ล้านคนทั่วโลก
การติดโรคไวรัสตับอักเสบ ดี
เชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี มีลักษณะการติดต่อเช่นเดียวกับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี กล่าวคือ การติดเชื้อจะเกิดขึ้นพร้อมกับไวรัสตับอักเสบบีหรือเกิดในผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแฝงอยู่ในร่างกายมาก่อนแล้ว ส่วนช่องทางการรับเชื้อนั้น เป็นไปได้หลายช่องทาง ได้แก่:
- ติดเชื้อจากการสัมผัสเลือดหรือของเหลวจากร่างกายของผู้ป่วย เช่น น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด และปัสสาวะ
- ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ติดเชื้อจากเลือดที่ได้รับการบริจาคมา โดยเฉพาะในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2535
- ติดต่อจากการใช้เข็มฉีดยา มีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บร่วมกับผู้ที่มีเชื้อโรคชนิดนี้อยู่
- ติดต่อจากแม่สู่ลูกในช่วงระหว่างตั้งครรภ์จนถึงช่วงของการคลอด (แต่จากสถิติที่ผ่านมา โอกาสติดเชื้อในลักษณะนี้มีอัตราต่ำมาก)
นอกจากการติดต่อของเชื้อโรคในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว ผู้ที่เคยหรือจำเป็นต้องได้รับการฟอกไตบ่อยๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีได้เช่นกัน จึงควรเข้ารับการฟอกไตจากสถานพยาบาลที่เชื่อถือได้หรือใช้เครื่องฟอกไตที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ ดี
โดยทั่วไปแล้ว เชื้อไวรัสตับอักเสบดีจะทำให้เกิดอาการตับอักเสบซ้ำซ้อนขึ้นมาอีกในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ส่งผลให้อาการต่างๆ ที่เป็นอยู่ ยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิมหรือปรากฏเด่นชัดมากขึ้น ดังนี้
- เจ็บปวดในช่องท้อง
- มีปัสสาวะสีน้ำตาลเข้ม
- เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า
- ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน)
- ปวดตามไขข้อและกระดูก
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้และอาเจียน
ทั้งนี้ อาการอักเสบของตับที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบดี มีโอกาสเกิดอาการขึ้นได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นแล้ว อาการจะลุกลามรวดเร็วและรุนแรงมากกว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ ถึง 10 เท่า โดยกว่า 80% ของผู้ที่เกิดอาการดังกล่าวจะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน
แนวทางการรักษาไวรัสตับอักเสบ ดี
แม้ว่าในปัจจุบัน ทางเลือกการรักษาสำหรับโรคตับอักเสบดีจะยังคงมีอยู่อย่างจำกัด แต่ก็มีการศึกษาวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับเชื้อโรคชนิดนี้เผยแพร่ออกมาเรื่อยๆ โดยปกติแล้ว การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบดี จะเป็นไปในลักษณะรักษาควบคู่ร่วมกันไปกับการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี โดยแพทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยาอินเตอร์เฟอรอนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Pegylated Interferon ซึ่งการบริโภคยาอินเตอร์เฟอรอนที่มีขนาดยาในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 12 เดือน สามารถช่วยบรรเทาอาการตับอักเสบเรื้อรังได้ แต่มักจะไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีให้ออกไปจากร่างกายได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ในกรณีที่ตับของผู้ป่วยถูกทำลายอย่างรุนแรง อาจจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายตับ
ยารักษาไวรัสตับอักเสบ ดี
ตัวยาที่นิยมใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบดีในปัจจุบัน คือ ยาเพ็กกิเลตอินเตอร์เฟอรอน แบบฉีด ซึ่งเป็นยาชนิดเดียวกันกับที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบบี โดยจะฉีดเข้าใต้ผิวหนังผู้ป่วยสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 48 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ผลการรักษายังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะมีโอกาสหายขาดค่อนข้างน้อย ตัวยาดังกล่าวทำได้แค่เพียงช่วยบรรเทาอาการตับอักเสบเรื้อรังเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาอัลฟ่าอินเตอร์เฟอรอน (Alpha Interferon) ในการรักษาผู้ป่วยระยะยาวหรือผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบของตับแบบเรื้อรังด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไวรัสตับอักเสบ ดี
ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดี ส่วนใหญ่จะเป็นแบบระยะเฉียบพลันเท่านั้น และร่างกายมักกำจัดเชื้อออกไปได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน แต่สำหรับผู้ติดเชื้อแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน มักจะมีอาการที่รุนแรง ซึ่งกว่า 80% จะพัฒนาต่อไปเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง และประมาณ 60 – 70% ของผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบดีแบบเรื้อรัง สามารถนำไปสู่ภาวะหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆได้ โดยเฉพาะโรคตับแข็ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในระยะเวล 2 – 5 ปี และยังมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งตับเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอย่างเดียว
แนวทางป้องกันไวรัสตับอักเสบ ดี
เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนหรือสารภูมิคุ้มกันใดๆ ที่ใช้ป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบดีได้ ดังนั้น แนวทางการป้องกัน จึงเป็นไปในลักษณะการตรวจหาและป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อันเป็นเชื้อไวรัสนำทางของไวรัสตับอักเสบดี และเนื่องจากไวรัสชนิดนี้จะติดต่อผ่านทางเลือดเป็นส่วนใหญ่ แนวทางการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงกิจกรรมและพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดี ได้แก่
- ผู้ที่ชอบสักตามร่างกาย รวมถึงการเจาะหู เจาะจมูก เจาะลิ้น
- กลุ่มชายรักร่วมเพศ
- ผู้ที่นิยมการมีคู่นอนหลายคนหรือการมีเพศสัมพันธ์หมู่
- แพทย์หรือบุคลากรที่ต้องทำงานในสถานพยาบาลต่างๆ
- ผู้ที่ต้องทำงานในสถานกักกันและทัณฑสถานที่มีผู้ป่วยโรคนี้อยู่
เนื่องจากมีผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบดี จำนวนหลายรายที่ไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อดังกล่าวมาจากช่องทางใด ดังนั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบดี หรืออยู่ในสถานกักกันและทัณฑสถาน ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมเสี่ยงและระมัดระวังการใช้อุปกรณ์ของมีคม
ไวรัสตับอักเสบ ดี ต่างจากไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ อย่างไร
ไวรัสตับอักเสบ ดี เป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ในตัวเองหรือเป็นไวรัสพิการนั่นเอง เชื้อโรคชนิดนี้จำเป็นต้องดำรงอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เพราะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ด้วยตัวเอง
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบ ดี
- การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีได้สำเร็จ ส่งผลทางอ้อมทำให้อัตราการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีน้อยลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา
- ผู้ที่ติดโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีและดี พร้อมกันในคราวเดียว จะมีอาการปรากฏอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีในภายหลัง
- ในปัจจุบัน อัตราการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบดีให้หายขาด ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก
- ในวงการแพทย์ต่างประเทศ มักเรียกเชื้อไวรัสตับอักเสบดีในอีกชื่อหนึ่งว่า เชื้อเดลต้า (Delta agent)
- ภูมิต้านทานโรคไวรัสตับอักเสบบี สามารถช่วยป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบดีได้เช่นกัน