เร่งบำรุงตับ กับ 11 สมุนไพร

สมุนไพรบำรุงตับ

สมุนไพรบำรุงตับ มีอะไรบ้าง

ตับเป็นเสมือนโรงงานแปรรูปวัตถุดิบสำหรับร่างกาย โดยจะทำการแปรรูปสารอาหาร แอลกอฮอล์ สมุนไพรและยาประเภทต่างๆ ซึ่งถูกดูดซึมจากลำไส้ไปยังตับ ด้วยการประมวลผล เปลี่ยนแปลง จัดเก็บหรือขับออก และลำเลียงไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย จึงเห็นได้ชัดว่า ตับต้องทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยปกป้องและบำรุงรักษาเซลล์ต่างๆ ในร่างกายของคุณ ดังนั้น คุณจึงควรเสริมทัพให้กับตับด้วยการเฟ้นหาสมุนไพรจากธรรมชาติที่สามารถเร่งประสิทธิภาพ ป้องกันความเสียหาย และช่วยให้ตับสามารถทำงานได้ดีที่สุดมารับประทานกันบ้าง

สมุนไพรที่เราคัดสรรมาให้มีดังต่อไปนี้ :

1. ฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทลายโจร
(ขอบคุณที่มาภาพจาก http://www.pharmacy.su.ac.th)

ฟ้าทลายโจร เป็นสมุนไพรไทยที่มีมาแต่โบราณกาลและจัดเป็นสมุนไพรอันดับหนึ่งทุกครั้งที่มีการพูดถึงการบำรุงตับและยังใช้รักษาโรคตับอักเสบได้อีกด้วย โดยมีสรรพคุณยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสตับอักเสบและช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเนื้อเยื่อตับขึ้นมาใหม่ เพื่อทดแทนเนื้อเยื่อตับส่วนที่เสียหาย บรรเทาอาการตัวร้อนจากอาการกำเริบของไข้ที่เกิดจากความผิดปกติของตับ นอกจากนี้ มันยังเป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้อีกหลายโรค โดยไม่มีผลข้างเคียงให้ต้องกังวล

2. ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน

หากต้องการขับพิษที่สะสมอยู่ในตับ ขมิ้นชันก็เป็นสมุนไพรที่ตอบโจทย์ของคุณได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยขับพิษที่สะสมในตับแล้ว สรรพคุณของขมิ้นชันยังรวมถึงการช่วยบำรุง ฟื้นฟู และล้างสารพิษออกจากร่างกายได้ หากไม่สะดวกที่จะปรุงอาหารจากขมิ้นชัน คุณสามารถเลือกทานขมิ้นชันชนิดแคปซูลบรรจุผงสกัดในช่วงเวลาก่อนนอนและเพื่อการบำรุงตับอย่างมีประสิทธิภาพ ควรกินในปริมาณ 6,500 มิลลิกรัมต่อวัน

3. โสมเกาหลี

โสม

โสมเป็นสมุนไพรบำรุงตับที่สามารถช่วยป้องกันโรคตับอักเสบและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส รวมถึงช่วยขจัดสารพิษและแอลกอฮอล์ที่สะสมไว้ ให้ออกไปจากตับได้ ทั้งนี้ หากปล่อยสารพิษเหล่านี้ติดต้างเรื้อรังในตับ อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและอาจกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด 

นอกจากนี้ โสมเกาหลียังช่วยให้เจริญอาหาร โดยช่วยให้มีระบบเผาผลาญพลังงานและระบบขับถ่ายดีขึ้น

4. เม็ดเก๋ากี้

Gojiberry

ขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดของแหล่งสารอาหาร ประโยชน์ของเก๋ากี้ไม่สามารถบรรยายตรงนี้ได้ครบหมด แต่ที่สำคัญคือ สมุนไพรจีนชนิดนี้อุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีน กรดกำมะถัน แคลเซียม และธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนในการเสริมภูมิต้านทานโรค เพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาว ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด ป้องกันไขมันพอกตับ ช่วยให้ตับทำงานดีขึ้น 

ทั้งนี้ คุณสามารถกินเก๋ากี้ได้หลายรูปแบบ ทั้งการต้มดื่มเป็นน้ำซุป ปรุงเป็นโจ๊ก หรือนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องแกง ต้มจืด และเครื่องตุ๋น เป็นต้น โดยเม็ดเก๋ากี้จะมีรสชาติหวาน มีธาตุเป็นกลาง บำรุงเลือด ตับ และสายตา สามารถใช้บำบัดผู้ที่มีตับอ่อนแอหรือผู้ที่กำลังรักษาโรคตับอักเสบ ด้วยการนำมาปรุงชงเป็นน้ำดื่มแทนน้ำชา โดยใช้ครั้งละเพียง 5-30 กรัม

5. กุยป่าน

กุยป่าน
(ขอบคุณภาพจาก https://www.rayron.tv)

หรือกระดองเต่า – กุยป่านมีคุณสมบัติค่อนไปทางเย็นและมีรสเค็มหวาน สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารที่รับประทานได้ง่าย 

โดยเป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนกระดองมาทำเป็นยาหรือซุป เรียกว่า ซุปกระดองเต่า ลักษณะเป็นวุ้นสีน้ำตาลเข้มคล้ายเฉาก๊วย เชื่อกันว่าช่วยลดการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ แต่ที่แน่นอนคือ กุยป่านสามารถช่วยเพิ่มพลังหยิน บำรุงตับ เดินลมปราณ รวมถึงช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกและเอ็น (ทางการแพทย์ค้นพบว่า ตับมีส่วนร่วมในการทำงานของกระดูกและเอ็นด้วย)

6. บีทรูท (Beetroot)

บีทรูท

สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ในบีทรูทก็เป็นอีกหนึ่งในตัวช่วยชั้นดี ที่จะบำรุงตับของเราให้แข็งแรงอย่างเห็นผลได้ชัด เพราะสารตัวนี้จะเข้าไปบำรุงตับและทำให้ตับฟื้นฟูตัวเองควบคู่กันไปด้วย จึงนับเป็นสมุนไพรเทศที่ช่วยบำรุงการทำงานในทุกด้านของตับเลยก็ว่าได้

7. พริกไทยดำ

พริกไทยดำ

เป็นสมุนไพรอีกชนิดที่ถูกปากถูกใจใครต่อใครหลายคน ด้วยรสชาติที่เผ็ดจัดจ้านและกลิ่นหอมฉุน ทั้งนี้ นอกจากความเผ็ดร้อนของพริกไทยดำจะช่วยขับเหงื่อ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ท้องผูก ปวดฟัน และช่วยให้เจริญอาหารแล้ว มันยังมีสารที่ช่วยในการควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง และช่วยยับยั้งการเสื่อมสภาพของตับได้อีกด้วย

8. กระเทียม

กระเทียม

สมุนไพรกระเทียมเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่หาซื้อได้ง่ายที่สุด แต่สรรพคุณนั้นมหาศาลเกินบรรยาย หนึ่งในนั้นคือการที่มันสามารถช่วยกระตุ้นให้ตับผลิตเอนไซม์ชนิดที่ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย อีกทั้งยังมีอัลลิซิน (Allicin) และซีลีเนียม (Selenium) อันเป็นสององค์ประกอบสำคัญจากธรรมชาติที่จะช่วยดีท็อกซ์สารพิษสะสมในตับ

9. ขิง

ginger

ขิงเป็นที่รู้จักทั่วโลกในด้านคุณสมบัติต้านการอักเสบ ขิงจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของตับและผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับ องค์ประกอบในการรักษาของขิง เช่น สาร Gingerol และ Shogaol ถูกค้นพบว่า สามารถยับยั้งสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการอักเสบในร่างกาย ซึ่งการอักเสบมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น การรับประทานขิงเป็นปรจะ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวได้

10. ลูกเดือย

ลูกเดือย

ลูกเดือยมีฤทธิ์เป็นยาเย็น ช่วยบำรุงกำลังวังชาและบำรุงตับ ปอด ไต ม้าม อีกทั้งยังช่วยขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย รักษากระเพาะและลำไส้ ช่วยขับพิษร้อนออกจากร่างกายได้ดี นอกจากนี้ ยังมีสารที่สามารถช่วยเพิ่มเอนไซม์ในการกำจัดทำลายสารพิษที่สะสมในตับ จึงช่วยป้องกันโรคตับแข็งและโรคตับอักเสบได้

11. รากแดนดิไลอ้อน (Dandelion root)

รากแดนดิไลอ้อน (Dandelion root)

รากของแดนดิไลอ้อนหรือรากของ ต้นฟันสิงโต จะมีสารทาราซาซิน (Taraxacin) ซึ่งสามารถนำมาสกัดเป็นชาหรือเป็นยาสมุนไพรที่ช่วยบำรุงตับ เร่งการขับน้ำดี และช่วยย่อยไขมัน นอกจากนี้ ยังช่วยรักษาอาการอักเสบของไขข้อ รักษาเกาต์ ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 

มีรายงานจากวารสารการแพทย์อเมริกันว่า สำหรับในผู้ป่วยโรคตับ หากทานน้ำซุปที่ต้มจากรากแดนดิไลออน จะช่วยลดอาการเลือดคั่งในตับ ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง 

สมุนไพรบำรุงตับที่เราแนะนำมา มีทั้งสมุนไพรเทศ สมุนไพรไทย และสมุนไพรจีน แต่ก็สามารถพบได้ตามท้องตลาดทั่วไป ดังนั้น อย่ามัวรีรอที่จะซื้อหามารับประทานกัน โดยเฉพาะผู้ที่กำลังต่อสู้กับเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยจากเชื้อโรคอื่นๆ 

สอบถาม