ในปัจจุบันประชากรบนโลกเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี จึงทำให้องค์การอนามัยโลกและนานาชาติได้หารือร่วมกันเพื่อหาวิธีการป้องกันมะเร็ง การตรวจรักษา และการรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งตับที่มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากทั่วโลกมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้ป่วยมะเร็งตับเพิ่มมากขึ้น คือ พฤติกรรมการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน
จากข้อมูลกรมการแพทย์พบว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับสูงเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งทั้งหมดที่พบในประเทศไทย โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 16,000 คน และมีผู้ป่วยมะเร็งตับประมาณ 120,000 คน จากสถิติที่กล่าวมาเราจะพบว่าผู้ป่วยมะเร็งตับมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 7.5 เท่าของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ถือว่าเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูง แต่ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งตับ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตดังต่อไปนี้
5 พฤติกรรมอันตรายที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับ
1. การทานอาหารที่มีรสหวาน และมีไขมันสูง
การที่ทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานและมีไขมันที่สูงเป็นประจำ จะทำให้ผู้ทานมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง ที่จะนำไปสู่โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (NAFLD) ส่งผลให้ตับอักเสบเรื้อรังจนนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด
2. การดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะนำไปสู่โรคไขมันพอกตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์ (AFLD) ที่ทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นจะทำให้เกิดปัญหาตับอักเสบเรื้อรังและเกิดพังผืดขึ้น เมื่อไม่รีบทำการรักษาก็จะทำให้ตับเกิดแผลเป็นที่ก่อให้เกิดโรคตับแข็ง ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับเพิ่มมากขึ้น
3. การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่หรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่ ทุกคนจะได้รับสารนิโคตินที่มีสารอนุมูลอิสระเข้าสู่ร่างกาย สารนิโคตินที่ได้รับจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้น เมื่อตับทำงานหนักขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้ตับเกิดความอักเสบเรื้อรัง ที่เป็นสาเหตุสำคัญในก่อโรคมะเร็งตับนั่นเอง
4. การเคี้ยวหมากพลู
มีงานวิจัยหลายงานที่สนับสนุนว่าการเคี้ยวหมากพลูเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งตับดังเช่นงานวิจัยของ Grace Hui-Min Wu et al. ที่กล่าวว่าการเคี้ยวหมากเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งตับถึง 4.5 เท่า และความเสี่ยงของโรคจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารต่างๆ ในหมาก และระยะเวลาการเคี้ยวหมาก
5. การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น AIDS ผู้ป่วยที่เป็นโรค AIDS จะมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งหมายความว่าร่างกายจะอ่อนแอไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ยิ่งในปัจจุบันทั่วโลกมีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซีอยู่ ความรุนแรงของโรคไวรัสตับอักเสบเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและภูมิต้านทานของร่างกาย ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็น AIDS ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำค่อนข้างยากที่จะปลอดภัยจากโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี ที่เป็นโรคอันตรายต่อตับก่อให้เกิดตับแข็งและนำไปสู่โรคมะเร็งตับในที่สุด
เพียงแค่หลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าวก็ช่วยให้คุณลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งตับแล้ว