ค่าตับ กับความหมายควรรู้

ค่าตับดูอย่างไร

ค่าตับ ดูอย่างไร ?

เซลล์ของตับมีเอ็นไซม์หลายชนิด เมื่อเกิดอาการตับอักเสบ จะทำให้เซลล์ของตับถูกทำลายและส่งผลให้ระดับเอ็นไซม์ของตับมีค่าสูงขึ้น เช่น SGOT และ SGPT แต่ค่าระดับที่เกี่ยวข้องกับตับ ก็ไม่ได้มีเพียงสองค่าดังกล่าวเท่านั้น ยังมีค่าอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นคำศัพท์หรือตัวย่อภาษาอังกฤษอันน่าปวดหัวและอาจทำให้ผู้ที่ไปตรวจสุขภาพตับรู้สึกสับสนได้ง่าย ดังนั้น เราลองมาดูกันว่า ค่าตับมีอะไรกันบ้างและแต่ละค่าบ่งบอกหรือมีความหมายอย่างไร

ใบตรวจค่าการทำงานของตับ ในสถานพยาบาลแต่ละแห่งจะระบุรายละเอียดมากน้อยต่างกันไป แต่ตัวเลขหรือค่าต่อไปนี้ เป็นค่าที่พบได้บ่อยที่สุด:

AST หรือเดิมการแพทย์จะใช้คำว่า SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase)

ค่า AST จะบ่งบอกเอนไซม์ที่อาจตรวจพบได้ในกระแสเลือด ซึ่งสามารถถูกสร้างขึ้นมาจากความเสียหายของตับ ตับอ่อน เม็ดเลือดแดง หัวใจ หรือไต เป็นต้น โดยรวมแล้ว ค่า AST นี้เป็นค่าที่สะท้อนอาการเสียหายของทุกเนื้อเยื่อของอวัยวะอื่นๆภายในร่างกาย รวมถึงกล้ามเนื้อด้วย ทั้งนี้ ค่า AST เป็นค่าที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุดในการตรวจสภาวะของตับ

ALT หรือเดิมการแพทย์จะใช้คำว่า SGPT (Serum glumatic Pyruvic transaminase)

เช่นเดียวกับค่า AST ค่า ALT จะบ่งบอกถึงเอนไซม์ที่ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งอาจเกิดจากความเสียหายของอวัยวะภายใน เช่น ตับ ตับอ่อน ไต หัวใจ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ค่า ALT จะปรากฏขึ้นบ่งบอกสภาวะความเสียหายจากอวัยวะอื่นๆได้ไม่ชัดเจนนัก จึงใช้เพื่อการตรวจสุขภาพของตับเป็นหลักและเป็นอีกหนึ่งตัวบ่งชี้ที่สำคัญของโรคตับ

AST:ALT หรือ De Ritis ratio

โดยปกติแล้ว การตรวจหาค่า ALT มักจะตรวจควบคู่ไปกับการหาค่า AST ด้วยเสมอ ด้วยเหตุนี้ แพทย์จึงทำการรวบรวมข้อมูลและสถิติในการวิเคราะห์หรือสันนิษฐาน โดยพบว่าอัตราส่วนระหว่าง AST:ALT นั้น สามารถใช้เป็นข้อบ่งชี้โรคตับแบบคร่าวๆเบื้องต้นได้ ก่อนที่จะไปดูที่ค่าอื่นๆ เพื่อเป็นการยืนยันประกอบกับการวินิจฉัยโรคตับชนิดต่างๆ ต่อไป

ตารางแสดงอัตราส่วน AST:ALT
ตารางแสดงอัตราส่วน AST:ALT และการสันนิษฐานโรค

ALP (Alkaline phosphatase)

ค่า ALP บ่งบอกถึงกลุ่มเอนไซม์ที่ผลิตขึ้นมาด้วยโปรตีนจากอวัยวะต่างๆ ที่เกิดโรคหรือเกิดความผิดปกติ  โดยเฉพาะในตับและกระดูก ซึ่งจะช่วยให้ทราบภาวะความผิดปกติของอวัยวะดังกล่าว รวมถึงโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับท่อน้ำดี ภาวะการขาดวิตามินดี และยังอาจนับเป็นค่าบ่งชี้การเกิดมะเร็งที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งด้วย เนื่องจากค่า ALP เป็นข้อมูลจากกระแสเลือดที่ไวต่อการกระจายตัวของมะเร็งมากที่สุด ทั้งนี้ เมื่อใดก็ตามที่พบค่า ALP สูงขึ้นมากผิดปกติ ควรให้แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เนื่องจากค่า ALP มีผลอย่างมากต่อสุขภาวะของตับ

Total Bilirubin หรือทางการแพทย์เรียกว่า ค่าบิลิรูบินรวม

บิลิรูบินนั้นเกิดมาจากการที่เมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุขัย ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 120 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ม้ามจะเข้าไปเกาะตัวเม็ดเลือดแดงเหล่านั้น และทำการย่อยสลายสารฮีโมโกลบินให้ส่วนหนึ่งกลายเป็นกรดอะมิโนเช่นเดียวกับสารอาหารที่ร่างกายใช้ประโยชน์ในฐานะสารโปรตีน โดยสารอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า Hema ซึ่งละลายในเลือดไม่ได้ จึงต้องอาศัยการเกาะติดมากับสารอัลบูมิน เพื่อจะได้ไหลตามกระแสเลือดเข้าไปสู่ที่ตับและถือกำเนิดเป็นบิลิรูบิน 

ทั้งนี้ เมื่อยังไหลไปไม่ถึงตับ เราจะเรียกบิลิรูบินเหล่านั้นว่า “Indirect bilirubin” แต่เมื่อบิลิรูบินลอยตามกระแสเลือดไปจนถึงตับแล้ว ก็จะถูกตับจับไปผสมกับกรดชนิดหนึ่งทำให้เกิอคุณสมบัติที่สามารถละลายน้ำได้ เรียกว่า ‘Direct bilirubin’ ซึ่งเป็นค่าที่สำคัญในวัดประสิทธิภาพการทำงานของตับ

Direct Bilirubin หรือทางการแพทย์เรียกว่า บิลิรูบินชนิดละลายน้ำได้ 

เกิดจากการที่ตับนำเอาบิลิรูบินที่ลอยอยู่ในกระแสเลือดไปผสมเข้ากับกรดชนิดหนึ่ง ทำให้มันมีคุณสมบัติสามารถละลายน้ำได้และปรากฏเป็นสารของเหลวสีเหลืองที่พร้อมที่จะถูกขับทิ้งออกนอกร่างกายโดยอวัยวะตับและไต ทั้งนี้ ตับของผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไปจะสามารถแปรสภาพ Indirect bilirubin ให้กลายเป็น Direct bilirubin ได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่เหลือคั่งค้างหรือสะสมในตับ รวมถึงสามารถส่งบิลิรูบินชนิดนี้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปผลิตกรดน้ำดีเพื่อเก็บสะสมไว้ในถุงน้ำดี รอเวลาเพื่อนำไปใช้ย่อยอาหารไขมันได้อย่างหมดจด ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่า สุขภาพของตับเป็นปกติดีหรือไม่เพียงใด และท่อทางเดินที่ผ่านออกจากถุงน้ำดีทำงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

Albumin หรือ ค่าอัลบูมิน 

อัลบูมินเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในกระแสเลือด ซึ่งหากมีการขับออกจากร่างกายปนมาทางปัสสาวะ มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ไข่ขาว’ อันเป็นโปรตีนที่ถูกผลิตขึ้นจากตับและมีปริมาณมากกว่าโปรตีนชนิดอื่น โดยนับเป็นสัดส่วนได้ประมาณ 60% ของค่าโปรตีนรวม และด้วยเหตุที่อัลบูมินผลิตขึ้นมาจากตับเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น หากตรวจอัลบูมินในเลือดแล้วพบว่า มีค่าต่ำลงมากผิดปกติก็สามารถสันนิษฐานได้ไว้ว่า ตับน่าจะเกิดโรคหรือมีเหตุสำคัญร้ายแรงเกิดขึ้น 

Globulin หรือ ค่าโกลบูลิน

โกลบูลินเป็นโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่ล่องลอยอยู่ในพลาสมาหรือในกระแสเลือด ซึ่งจำแนกได้เป็น 3 ชนิด  คือ อัลฟ่า (Alpha) เบต้า (Beta) และสุดท้ายคือ แกมม่า (Gamma) ซึ่งเป็นโกลบูลินที่มีปริมาณเป็นสัดส่วนมากที่สุด แถมยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นพาหนะให้เซลล์เม็ดเลือดขาวให้มาเกาะติดกันให้สามารถล่องลอยไปในกระแสเลือด เพื่อช่วยทำลายล้างจุลชีพที่กำลังล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกายอันก่อให้เกิดโรค หรือที่ในทางการแพทย์เรียกว่า Immunoglobulin ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานโรคอันเกิดจากการแปรสภาพของโกลบูลินนั่นเอง ทั้งนี้ การตรวจค่าโกลบูลินเป็นไปเพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อโรคต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงโรคตับด้วย

A/G Ratio หรือ อัตราส่วนอัลบูมินต่อโกลบูลิน

ในทางการแพทย์ ผู้ป่วยจำเป็นต้องคอยตรวจอัตราส่วนระหว่างอัลบูมินต่อโกลบูลิน ให้คงอยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากโดยปกติแล้วร่างกายมักจะพยายามรักษาระดับค่าโปรตีนรวมไว้ให้คงที่ แม้ในบางกรณีที่โปรตีนอัลบูมินในเลือดจะมีค่าลดต่ำลง เช่น ในผู้ที่อาจเกิดโรคตับขึ้นโดยไม่รู้ตัว แต่โปรตีนโกลบูลินส่วนใหญ่ที่ผลิตโดยระบบผนังเซลล์ของเนื้อเยื่อ ก็จะพยายามเพิ่มระดับขึ้นมาชดเชย เพื่อรักษาค่าผลรวมของโปรตีนในเลือดไม่ให้ต่ำลง ซึ่งหากผลการตรวจอัตราส่วนอัลบูมินต่อโกลบูลินเป็นเช่นนั้น แสดงว่าผู้รับการตรวจอาจกำลังมีภาวะโรคร้ายแรง

GGT (Gamma-Glutamyltransferase) หรือ ค่าแกมม่าจีที

แกมม่าจีที คือ เอนไซม์ที่มีต้นกำเนิดมาจากกรดอะมิโนและอยู่ภายในเซลล์ หากได้รับเหตุกระทบกระเทือนบางอย่างก็จะหลุดผ่านจากผนังภายในเซลล์ออกมาสู่ภายนอก ซึ่งแหล่งที่มีค่าแกมม่าจีทีผลิตออกมาอย่างหนาแน่นมากที่สุดก็คือ ตับ หรือตรงบริเวณช่องทางผ่านของกรดน้ำดี ทั้งนี้ การตรวจหาค่าแกมม่าจีทีจะใช้เพื่อเป็นตัวบ่งชี้ความผิดปกติของเซลล์ตับ เนื่องจากมันเป็นเอนไซม์ที่มีความไวต่อการสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะความผิดปกติของตับ

Total Protein หรือ ค่าโปรตีนรวม

ร่างกายมนุษย์จะต้องการโปรตีนในการจัดการกับภาวะติดเชื้อ หากมีปริมาณโปรตีนเหล่านี้น้อยกว่าค่าปกติ แสดงว่าอาจมีการติดเชื้อหรือตับเกิดการถูกทำลายได้ ทั้งนี้ การตรวจ Total protein คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าปริมาณของโปรตีนรวมในกระแสเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ เพราะปริมาณรวมของโปรตีนในกระแสเลือดผลิตขึ้นมาจากตับ จึงสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะการทำงานของตับหรือชี้วัดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับได้ด้วย

นอกจากค่าตับและวัตถุประสงค์ต่างๆ ดังที่ระบุข้างต้นแล้ว ยังมีระดับค่าหรือปัจจัยตัวเลขอื่นๆ อันเกี่ยวข้องกับการตรวจสุขภาพตับแบบย่อยๆ อีกหลายค่า เช่น ค่าแลคเตต ดีไฮโดรจีเนส (Lactate Dehydrogenase – LD) อันเป็นเอนไซม์ที่พบเมื่อเซลล์ต่างถูกทำลาย สามารถพบได้ในทุกๆเซลล์ของร่างกาย ค่าระยะเวลาในการแข็งตัวของเลือด (Prothrombin Time – PT) เนื่องจากตับทำหน้าที่สารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด หากตับทำงานผิดปกติ ระยะเวลาในการแข็งตัวของเลือดอาจเพิ่มขึ้นด้วย และค่าโปรตีนอัลฟา-ฟีโต (Alpha Feto Protein – AFP) อันเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูตัวเองของตับ เป็นต้น

ตัวอย่างใบตรวจค่าต่างๆ ของตับ
ตัวอย่างใบตรวจค่าต่างๆ ของตับ
(ขอบคุณภาพจาก Researchgate.net)

ค่าตับที่มีความหมายเดียวกัน

ในแต่ละสถานพยาบาลอาจมีการระบุคำศัพท์หรืออักษรย่อของค่าตับต่างๆ แตกต่างกันไปโดยที่หมายถึงค่าเดียวกัน ตัวอย่างเช่น:

คำและตัวย่อที่หมายถึงค่าตับเดียวกัน
คำและตัวย่อที่หมายถึงค่าตับเดียวกัน

คำถามที่พบบ่อย (Q&A)

ใครบ้างที่ควรตรวจค่าตับ

  • ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ 
  • ผู้ที่ดื่มสุราในปริมาณมากหรือดื่มบ่อย
  • ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคตับ
  • ผู้ที่รับประทานยา รวมถึงสมุนไพรและวิตามิน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องในปริมาณสูง ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ตับอักเสบได้
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับอื่นๆ เช่น ผู้ที่ต้องทำงานหรืออยู่ในสถานที่ๆ มีสารพิษหรือสารเคมีแพร่กระจาย

มาตรวัดที่ระบุในแต่ละค่า คืออะไร

มาตรวัดที่พบได้บ่อยเมื่อพูดถึงการตรวจค่าตับต่างๆ ได้แก่

  • IU – หน่วยสากล
  • U – หน่วย (ประมาณ 400 cc)
  • L – ลิตร
  • U/L – หน่วยต่อลิตร
  • mg – มิลลิกรัม
  • dL – เดซิลิตร หรือ 1/10 ลิตร (ประมาณ 100 cc)
  • mg/dL – มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • cells/ml – จำนวนเซลล์ต่อมิลลิลิตร

นอกจากนี้ ในการตรวจเลือดเพื่อหาค่าตับแยกย่อยบางชนิด อาจจะมีหน่วยหรือมาตรวัดที่ไม่ค่อยได้คุ้นตากันสักเท่าไรด้วย เช่น ไมโครลิตร (µL) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1 ในล้านของลิตร เป็นต้น

ค่าตับเท่าไร ถือว่าปกติ

  • ค่าปกติของ AST คือ 8 – 46 U/L (ค่าปกติสำหรับผู้หญิง คือ 7 – 34 U/L)
  • ค่าปกติของ ALT คือ 30 U/L (ค่าปกติสำหรับผู้หญิง คือ 19 U/L)
  • ค่าปกติของ ALP คือ 30 – 120 U/L (ค่าปกติสำหรับเด็ก คือ 30 – 300 U/L)
  • ค่าปกติของ Total bilirubin คือ 0.3 – 1.0 mg/dL
  • ค่าปกติของ Direct bilirubin คือ 0.1 – 0.3 mg/dL
  • ค่าปกติของ Albumin คือ 3.5 – 5.0 gm/dL 
  • ค่าปกติของ Globulin คือ 2.3 – 3.4 gm/dL
  • ค่าปกติของ A/G Ratio คือ < 1 (ต่ำกว่า 1)
  • ค่าปกติของ Total Protein คือ 6.4 – 8.3 gm/dL (ค่าปกติสำหรับเด็ก คือ 6.2 – 8 gm/dL)

ค่าตับสูงเท่าไรจึงเป็นอันตราย

ค่าตับใดๆก็ตามที่สูงกว่าค่าปกติ ถือว่าอันตรายทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าจะอันตรายน้อย ปานกลาง หรือเข้าขั้นวิกฤติ

ค่าตับสูงเกินปกติ บ่งบอกอะไรบ้าง

การแปลความหมายค่าตับแต่ละประเภทที่สูงเกินปกติ ส่วนใหญ่จะบ่งบอกถึงความผิดปกติหรือภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคบางอย่าง ดังนี้

  • ค่าที่สูงเกินปกติของ AST – อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ หรืออาจเกิดภาวะอุดตันภายในตับเอง
  • ค่าที่สูงเกินปกติของ ALT – อาจเกิดจากการกินยาเกินขนาด เช่น ยาพาราเซตามอลหรือยาสมุนไพรบางชนิด รวมถึงอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากโรคโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis) และตับอาจอักเสบในระยะเริ่มต้นจากเชื้อไวรัส
  • ค่าที่สูงเกินปกติของ ALP – อาจเกิดโรคตับอักเสบหรือโรคตับที่สำคัญบางอย่าง เช่น โรคตับแข็งในระยะแรก โรคมะเร็งตับระยะเริ่มต้นหรือในระยะแพร่กระจาย และโรคมะเร็งตับที่แพร่กระจายมาจากอวัยอื่น ๆ
  • ค่าที่สูงเกินปกติของ Total bilirubin – อาจเกิดโรคร้ายแรงซึ่งมีผลทำให้เกิดการอุดกั้นท่อน้ำดี เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดีและโรคมะเร็งตับอ่อน
  • ค่าที่สูงเกินปกติของ Direct bilirubin – อาจเกิดจากท่อน้ำดีภายนอกตับถูกปิดกั้นการไหลผ่านของน้ำดี เช่น อาจเกิดจากนิ่วในท่อน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดีที่ไปปิดช่องทางท่อถุงน้ำดี เนื้องอกที่ตับอ่อน จึงเป็นผลทำให้ไหลผ่านออกไปเป็นน้ำดีไม่ได้และคั่งท่วมตับเข้าสู่กระแสเลือด
  • ค่าที่สูงเกินปกติของ Albumin – อาจมีความเข้มข้นในเลือดสูงกว่าปกติ เช่น ในกรณีที่ร่างกายขาดน้ำ (Dehydration) จึงทำให้โปรตีนอัลบูมินที่นับกันด้วยจำนวนกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร พลอยสูงขึ้นผิดปกติตามไปด้วย
  • ค่าที่สูงเกินปกติของ Globulin – บ่งบอกว่า ตับอาจมีปัญหาเกิดขึ้นจนทำหน้าที่ได้ไม่ครบถ้วน หรืออาจผลิตโปรตีนโกลบูลินไม่ได้เลยก็ได้ แม้ว่าโปรตีนดังกล่าวสามารถถูกผลิตได้จากแหล่งอื่นด้วยก็ตาม แต่ปริมาณส่วนรวมในเลือดก็ย่อมลดต่ำลงผิดปกติได้
  • ค่าที่สูงเกินปกติของ A/G Ratio – หากอัตราส่วนดังกล่าวมีค่ามากกว่า 1 แสดงว่าผู้นั้นอาจกำลังติดเชื้อหรือเป็นโรครุนแรง
  • ค่าที่สูงเกินปกติของ Total Protein – อาจบ่งชี้ว่าตับเกิดการอักเสบหรือมีการติดเชื้อเรื้อรัง เช่น จากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี เป็นต้น

ค่าตับต่ำกว่าปกติได้ไหม

ค่าตับต่างๆ อาจต่ำกว่าปกติได้ แต่มักไม่ค่อยเกิดขึ้นหรือตรวจพบว่าเป็นเช่นนั้น และแม้ค่าตับบางอย่างจะต่ำกว่าปกติ ก็ไม่ได้เป็นผลเสียแต่อย่างใด แต่ยังอาจเป็นผลดีด้วยซ้ำ เช่น ค่าบิลิรูบินรวม ยิ่งต่ำเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะแปลว่าตับสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบในการกำจัดสารบิลิรูบิน

ควบคุมค่าตับอย่างไรดี

ลำดับแรกเลย คือ การควบคุมอาหารสักระยะหนึ่งก่อน ซึ่งได้แก่ อาหารจำพวกไขมันสูง หากไปตรวจค่าตับอีกรอบแล้วยังสูงอยู่ ลำดับต่อไป คือ หมั่นออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการลดน้ำหนัก หากสามารถลดได้ประมาณหนึ่งแล้ว ค่อยลองไปตรวจใหม่ หากทำทั้งสองสามขั้นตอนที่กล่าวมาแล้ว ค่าตับยังคงสูงอยู่ แพทย์จะเริ่มขอตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ

ค่าตับไม่ปกติจากสาเหตุอื่นๆได้ไหม

เป็นไปได้ เพราะบางครั้งการเพิ่มขึ้นของค่าตับอาจเป็นแค่ภาวะชั่วคราวอันเกิดจากสาเหตุบางอย่างเท่านั้น เช่น การทานยาบางชนิดอย่างต่อเนื่อง มีภาวะช็อค ถูกไฟลวก ร่างกายติดเชื้อที่รุนแรง กล้ามเนื้อบาดเจ็บ เกิดภาวะขาดน้ำ ตับอ่อนอักเสบ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก หรือการตั้งครรภ์ ภาวะเหล่านี้อาจจะทำให้ค่าตับตามที่กล่าวมาเพิ่มขึ้นได้โดยที่ไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นโรคตับ

บทความเรื่องตับอื่นๆ ที่น่ารู้

สอบถาม