การปลูกถ่ายตับรักษาโรคมะเร็งตับ

สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้เปิดเผยข้อมูลว่าโรคมะเร็งตับเป็นโรคที่พบมากอันดับที่ 1 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในคนไทย พบในผู้ชายเป็นอันดับ 1 และพบในผู้หญิงเป็นอันดับ 2 สำหรับทั่วโลกประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งตับเป็นอันดับ 6 ของโลก มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับ 5 ของโลก จำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทยมีประมาณ 120,000 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับในประเทศไทยในแต่ละปีพบประมาณ 16,000 ราย จากสถิติพบว่าผู้ป่วยมะเร็งตับมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 7.5 เท่า

ความรุนแรงของโรคมะเร็งตับ

โรคมะเร็งตับ (Liver cancer) เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ตับมีการเจริญเติบโตผิดปกติจนเกิดเป็นก้อนในตับ สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคมะเร็งตับเป็นโรคเฝ้าระวังของทั่วโลก คือ ผู้ป่วยมะเร็งตับระยะแรกจะไม่ค่อยแสดงอาการ ผู้ป่วยส่วนมากกว่าจะรู้ว่าตัวเองเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับอาการก็ทรุดตัวมากแล้ว และยากต่อการรักษาให้หายขาด เพราะเหตุนี้เองโรคมะเร็งตับจึงเป็นโรคที่มีอัตราผู้เสียชีวิตสูงในแต่ละปี และเป็นโรคที่นานาชาติต่างเฝ้าจับตามอง

ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับมักแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
  • ท้องบวม
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • มีอาการดีซ่าน
  • รู้สึกเหนื่อยล้า

การปลูกถ่ายตับสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ

การปลูกถ่ายตับ คือ การนำตับของผู้ป่วยออกไปทั้งหมด และนำตับของผู้บริจาคใส่เข้าไปทดแทนใหม่  การปลูกถ่ายตับนั้นเป็นวิธีการรักษาตับสำหรับตับที่มีความเสียหายอย่างรุนแรงเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยที่จะได้รับสิทธิ์การปลูกถ่ายตับมีเพียงโรคต่างๆ ดังนี้

  • โรคตับแข็งระยะสุดท้าย
  • ภาวะตับวายเฉียบพลัน
  • ตับล้มเหลว
  • มะเร็งตับ

“ตับ” ที่บริจาคมาจากไหน?

1. มาจากผู้บริจาคสมองตาย สำหรับผู้ป่วยสมองตายในทางการแพทย์หมายความว่าผู้ป่วยคนนี้เสียชีวิตแล้ว แต่ตับยังสามารถทำงานได้ก็สามารถบริจาคได้ทันที ถ้าหากว่าครอบครัวผู้ป่วยยินยอมให้บริจาคได้

2. มาจากผู้ป่วยที่มีชีวิต ในกรณีนี้หมายถึงผู้บริจาคยินยอมบริจาคตับให้ผู้ป่วยในขณะที่มีชีวิตอยู่ แต่ในกรณีนี้ผู้ที่ต้องการปลูกถ่ายตับต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้บริจาคเท่านั้นถึงจะสามารถปลูกถ่ายตับได้

ผลข้างเคียงจากการปลูกถ่ายตับ

  • มีอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ
  • มีภาวะความดันโลหิตสูง
  • มีภาวะเลือดออกมากเกินปกติ
  • ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ
  • ระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มสูงอย่างมาก
  • อาจจะเกิดตับล้มเหลว ทำให้ต้องปลูกถ่ายตับใหม่อีกครั้ง
  • ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เชื้อรา เชื้อพยาธิ ฯลฯ

ในปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการตับค่อนข้างมาก แต่การบริจาคตับในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อย ส่งผลให้ผู้ป่วยที่รอปลูกถ่ายตับเสียชีวิตก่อนได้รับการรักษา ใครที่ต้องการบริจาคตับเพื่อส่งมอบโอกาสให้ผู้อื่นสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย

สอบถาม