ไวรัสตับอักเสบ อี (Hepatitis E Virus) คืออะไร ?
โรคไวรัสตับอักเสบอี (HEV) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสน้องใหม่ ซึ่งเพิ่งจะมีการตรวจพบมากขึ้นในระยะหลัง การติดเชื้อที่มีการบันทึกไว้ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2498 ณ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเอเชียและประเทศไทย พบจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ อี เพียงประปรายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสชนิดนี้ยังสามารถพบได้ในสัตว์บางประเภทด้วย เช่น หมู กวาง กระต่าย นก และหนู เป็นต้น
ไวรัสตับอักเสบอี เป็น สาเหตุหลักของการเสียชีวิตในประเทศกำลังพัฒนาและถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของหญิงตั้งครรภ์ เพราะในจำนวนผู้ติดเชื้อราวๆ 20 ล้านรายทั่วโลกแต่ละปี จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้สูงถึงประมาณ 70,000 คน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงที่กำลังอยู่ในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยคิดเป็นร้อยละ 20 จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด
การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ อี
เนื่องจากอาการของโรคไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดนั้น ส่วนใหญ่จะคล้ายๆกัน การตรวจเลือดจะช่วยให้สามารถระบุชนิดของโรคได้ว่า ผู้ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบชนิดไหน โดยการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพื่อหาเชื้อไวรัสอาร์เอ็นเอ HEV
นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถตรวจหาสารแอนทิบอดี้ของเชื้อไวรัส ด้วยเทคนิคการส่องกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนภูมิคุ้มกัน (Immunoelectron Microscopy) ซึ่งเป็นรูปแบบของกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่ใช้สำหรับการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด โดยในช่วงแรกอาจจะยังตรวจไม่เจอ มักจะตรวจเจอในช่วงหลังจากได้รับเชื้อไปแล้ว 4 – 5 สัปดาห์ จากนั้น เมื่อเจาะเลือดมาตรวจ จะพบว่าตับเริ่มมีการอักเสบและระดับ IgM/ IgG anti HEV จะมีการเพิ่มขึ้นสูงและลดลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยมักจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบอี เมื่อแพทย์เห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ป่วยรายนั้นๆ จะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดอื่น รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติเคยเดินทางไปหรือเคยอาศัยอยูในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบอี
สาเหตุของไวรัสตับอักเสบ อี
ไวรัสตับอักเสบอี จะแพร่กระจายผ่านทางอุจจาระเป็นหลัก ดังนั้น สาเหตุส่วนใหญ่จึงเกิดจากการอาศัยอยู่ในพื้นที่หรือชุมชนมีระบบสุขาภิบาลทางด้านน้ำและส้วมที่ล้าสมัย รวมถึงการขาดสุขนิสัยบางอย่างในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ เช่น:
- ใช้มือหยิบจับรับประทานอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่ไว้เล็บยาวและสกปรก ซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสแฝงตัวอยู่ในเล็บ
- ไม่ล้างมือให้สะอาดหลังจากการใช้ห้องน้ำหรือถ่ายหนัก
- ดื่มหรือกินน้ำหรืออาหารที่อาจมีการปนเปื้อน เช่น น้ำประปาและน้ำแข็ง
- บริโภคผลไม้ดิบและผักที่อาจล้างด้วยน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ
- ทานอาหารทะเลที่ปรุงไม่สุก
นอกจากนี้ การเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่หรือประเทศที่มีหรือเคยมีการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบอี ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคชนิดนี้ได้ โดยเฉพาะการไปเยี่ยมผู้คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือที่อยู่อาศัยชั่วคราวที่แออัดหลังจากเกิดภัยธรรมชาติ
ความชุกและการแพร่ระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบ อี
โรคไวรัสตับอักเสบอี มีความชุกสูงมากในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ในช่วงที่ผ่านมา มีรายงานการระบาดของไวรัสตับอักเสบชนิดอีในบางประเทศทางแถบแอฟริกาและเอเชีย เช่น ประเทศอูกันดา อินเดีย และกัมพูชา เป็นต้น ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มักจะติดต่อสู่กันผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เช่นเดียวกับ ไวรัสตับอักเสบ เอ รวมถึงการติดต่อและแพร่ระบาดในรูปแบบอื่นๆ ได้แก่:
- ติดต่อจากสัตว์ที่ติดเชื้อ
- ติดต่อทางการถ่ายเลือด
- ติดต่อจากแม่ไปสู่ลูก
นอกจากนี้ การติดโรคชนิดนี้ในผู้ป่วยจำนวนหลายราย พบว่าเกิดจากการสัมผัสหรือเป็นผู้ที่ชอบรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสตับอักเสบอี เป็นเชื้อไวรัสที่มีอัตราการแพร่กระจายต่ำ หากผู้ป่วยรายใดมีอาการจนถึงขั้นตัวเหลืองหรือเป็นดีซ่านแล้ว ก็จะไม่เป็นพาหะของโรคหรือทำให้โรคนี้ติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้อีก
อาการของโรคไวรัสคับอักเสบ อี
ระยะการฟักตัวโดยเฉลี่ยของเชื้อไวรัสตับอักเสบอี คือ 40 วัน (ตั้งแต่ 15 – 60 วัน) โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีอาการ ดังนี้
- มีไข้ขึ้นสูง
- เหนื่อยล้าง่าย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- รู้สึกปวดที่บริเวณชายโครงด้านขวา
- ปัสสาวะสีน้ำตาลเข้ม
แม้ว่าจะพบเด็กที่ติดเชื้อโรคนี้บ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นแบบไม่รุนแรง โดยมักจะไม่มีอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน ส่วนการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบอีในผู้ใหญ่ สามารถทำให้ตับอักเสบเฉียบพลัน รวมถึงมีอาการตัวเหลืองและตาเหลือง ผู้ป่วยหลายรายอาจมีอาการดังกล่าวนานหลายสัปดาห์หรือนานถึง 3 เดือน
แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ อี
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบอีไม่มีความจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล ยกเว้นในรายที่มีอาการของโรคที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นสตรีมีครรภ์ ควรจะได้รับการดูแลอาการเป็นพิเศษจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ป่วยควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนหลังจากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดี
ยารักษาไวรัสตับอักเสบ อี
ในกรณีที่มีอาการรุนแรงและเรื้อรัง แพทย์อาจจะพิจารณาจ่ายยาไรบาวาริน (Ribavirin) ให้แก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายยาอัลฟ่าอินเตอร์เฟอรอน อันเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีแบบเรื้อรัง ซึ่งมีผลการรักษาล้มเหลวจากการใช้ยาไรบาวาริน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไวรัสตับอักเสบ อี
คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ อี จะมีอาการดีขึ้นได้เองภายในไม่กี่เดือน โดยปกติแล้ว โรคนี้จะไม่นำไปสู่การเจ็บป่วยในระยะยาวหรือการทำลายตับเหมือนกับไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่ตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งหาได้ยากและเกิดขึ้นเฉพาะในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ กระทั่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคตับแข็งหรือตับวาย
แนวทางป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ อี
ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบอีแบบเฉพาะทาง ส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับการป้องกันการติดโรค ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นเกี่ยวกับวิธีการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การสนับสนุนประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ที่พยายามจัดการกับโรคนี้ให้หมดไป การมีส่วนร่วมขององค์การอนามัยโลก รวมถึงคำแนะนำทางเทคนิค การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ และการส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำยังศูนย์สาธารณสุข ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการสร้างความตระหนักในชุมชนเกี่ยวกับแนวทางและวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบ อี
หลักปฏิบัติที่ดีและถูกสุขลักษณะทางด้านอาหารการกิน จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้แยกเก็บผลิตภัณฑ์อาหารดิบและสุกออกจากกัน รวมถึงให้ปรุงอาหารอย่างละเอียดด้วยอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยอาหารที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก
ในส่วนของวัคซีนป้องกันโรค แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะมีการทดลองวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ อี กับประชากรในหลายประเทศทางแถบเอเชีย ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาได้แสดงให้เห็นว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพและปลอดภัย แต่ก็ยังไม่มีการใช้วัคซีนป้องกันอย่างแพร่หลายในประเทศและประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ยกเว้นแต่เพียงในประเทศจีน ที่ได้รับการอนุญาตจากองค์การอาหารและยาแห่งชาติ (SFDA) ให้นำวัคซีนดังกล่าวไปใช้ได้ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่มีการอนุญาตให้ใช้วัคซีนชนิดนี้แต่อย่างใด
ไวรัสตับอักเสบอี ต่างจากไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ อย่างไร
เมื่อเทียบกับไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ โรคไวรัสตับอักเสบ อี มีแนวโน้มที่จะพัฒนากลายเป็นโรคตับอักเสบขั้นรุนแรงได้ง่ายที่สุด
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบอี
- ในปี 2018 มีผู้ป่วยชายชาวฮ่องกงรายหนึ่ง ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอีที่พบในหนู เป็นรายแรกของโลก ซึ่งการพบผู้ป่วยครั้งนั้นนับเป็นเรื่องใหญ่ในด้านสาธารณสุข เนื่องจากเป็นครั้งแรกของโลกที่พิสูจน์ได้ว่า เชื้อไวรัสตับอักเสบอีที่พบในหนูสามารถติดต่อสู่คนได้
- โรคไวรัสตับอักเสบอีเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่ภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน โดยทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้มากกว่าโรคไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ
- โรคไวรัสตับอักเสบอี มีทั้งหมด 4 ชนิดย่อยๆ (4 Genotypes) โดยเชื้อชนิดที่ 1 และ 2 สามารถพบได้ในมนุษย์เท่านั้น
- จากการศึกษาวิจัยในประเทศอินเดียพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบอีจากการรับประทานริมทาง
- ประเทศจีนเป็นเพียงประเทศเดียวในโลก ที่รัฐบาลอนุญาตให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบอีได้
- ไวรัสตับอักเสบอี ที่พบในประเทศไทย เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดที่มีความสัมพันธ์กับการกินเนื้อหมูดิบ โดยมีประวัติพบผู้ป่วยที่ใช้ตะเกียบคีบหมูกระทะ หมูบาร์บีคิว และใช้ตะเกียบอันเดียวกันคีบอาหารเข้าปาก ทำให้มีความเสี่ยงสัมผัสกับหมูดิบที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอี