ไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A Virus)

ไวรัสตับอักเสบ เอ

ไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A Virus) คืออะไร ?

ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคตับจากไวรัสที่สามารถทำให้เกิดการเจ็บป่วยเล็กน้อยจนถึงขั้นรุนแรง ไวรัสชนิดนี้ (HAV) มักจะถูกแพร่ผ่านการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนหรือผ่านการสัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อ  เชื้อไวรัสนี้จะทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน ทำให้พบมีการระบาดในชุมชนและกลุ่มคนที่รวมกันตาม โรงเรียน หอพัก ค่ายทหาร เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ

ผู้ป่วยที่มีอาการอันเกี่ยวเนื่องกับโรคตับอักเสบ หากเจาะเลือดแล้วพบว่า ค่า SGOT หรือ SGPT สูงแสดงว่ามีการอักเสบของตับ ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยในขั้นตอนถัดไป

การตรวจวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบเอ สามารถทำได้โดยการตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือสารแอนติบอดี้ IgM ต่อต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ จากของเหลวในร่างกาย เช่น น้ำเหลืองที่เก็บรวบรวมได้ทันทีหรือในระหว่างการเจ็บป่วย ซึ่งมักจะสามารถตรวจพบได้ภายใน 5-10 วันหลังการติดเชื้อและตรวจพบอย่างต่อเนื่องได้นานถึง 6 เดือนหลังจากเริ่มมีอาการ วิธีการดังกล่าวจะดำเนินการร่วมกับการตรวจภูมิคุ้มกันหรือสารแอนติบอดี้จำเพาะ (HAV-specific Immunoglobulin Antibody) ของไวรัสที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน้อย 4 เท่าหรือมากกว่านั้น จากการเจาะน้ำเหลือง 2 ครั้งด้วยวิธี RIA หรือ ELISA ซึ่งวิธีนี้สามารถตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อ 2 ชนิด คือ Anti HAV IgM ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นในระยะแรกของการติดเชื้อ แสดงถึงภาวะการติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน และ Anti HAV total Ab ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นทั้งในระยะแรกและระยะหลังของการติดเชื้อ นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้หลักฐานทางระบาดวิทยาเพื่อช่วยวินิจฉัยโรค

ส่วนภูมิคุ้มกัน IgG anti-HAV นั้น มักจะถูกตรวจพบในช่วงต้นของการติดเชื้อและคงอยู่ตลอดไป ซึ่งจะกลายมาเป็นภูมิคุ้มกันป้องกันโรคนี้ได้ไปตลอดชีวิต ทั้งนี้ การส่งตรวจเพื่อหาผลเพิ่มเติม จะใช้ในกรณีที่ตรวจด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ทราบผลที่แน่ชัด จึงจะใช้วิธีตรวจหาสารพันธุกรรมในเลือดด้วยการเพิ่มจำนวนพันธุกรรม RNA ของไวรัสตับอักเสบเอ และดูผลลัพธ์จากสารเรืองแสงในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากปริมาณของสารพันธุกรรมของเชื้อที่ปนอยู่ในเลือดมีน้อยมาก การตรวจจึงต้องใช้วิธีการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมเพื่อการตรวจหาเชื้อที่แน่ชัดขึ้น แต่ไม่ได้ใช้ตรวจในกรณีทั่วไป

ไวรัสตับอักเสบ เอ-1

สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบ เอ

โรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอ เป็นโรคตับที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิด เอ (HAV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิด RNA และจัดอยู่ในตระกูล Picornaviridae ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อดังกล่าว ได้แก่ บรรดานักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังประเทศที่มีการติดเชื้อในระดับสูง รวมถึงกลุ่มชายรักชาย กลุ่มที่มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ และกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่โดยทั่วไปแล้ว บุคคลทั่วไปตามชุมชนแออัดก็มักจะติดเชื้อโรคชนิดนี้ได้จากการรับเชื้อติดต่อมาจากผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่แล้ว หรือผ่านการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยที่ไม่ปรุงให้สุกและไม่ผ่านการล้างทำความสะอาด ทำให้ยังมีเชื้อไวรัสตับอักเสบเอปนเปื้อนอยู่ รวมถึงการไม่ล้างมือหลังสัมผัสสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วใช้มือหยิบจับรับประทานอาหารหรือปรุงอาหาร

ลักษณะของโรคไวรัสตับอักเสบ เอ

เด็กที่ติดเชื้อนี้ อาการของโรคมักจะไม่ปรากฏให้เห็น ส่วนอาการเบื้องต้นในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ส่วนมากจะมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ แน่นท้อง ตามด้วยตัวเหลือง ตาเหลือง ภายใน 2-3 วัน ซึ่งแตกต่างกันไป โดยมีตั้งแต่อาการเพียง

เล็กน้อยและหายไปใน 1-2 สัปดาห์ จนถึงในรายที่มีอาการรุนแรงและต้องใช้เวลารักษานานหลายเดือน ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้เล็กน้อยเท่านั้น ระยะพักฟื้นส่วนใหญ่มักใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยทั่ว ๆ ไป ความรุนแรงมักจะเพิ่มขึ้นตามอายุ แต่ก็มักจะหายอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีโรคแทรกซ้อนเหลืออยู่และจะไม่มีอาการกลับเป็นซ้ำอีก ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้เพียงร้อยละ 1.8

อาการทั่วไปของไวรัสตับอักเสบ เอ

โดยทั่วไปแล้ว อาการของผู้ที่ติดโรคไวรัสตับอักเสบ เอ อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ

  1. ระยะที่หนึ่ง เรียกว่า ระยะฟักตัว เป็นระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการของโรค ซึ่งระยะนี้จะเป็นระยะที่สำคัญในการแพร่เชื้อ
  2. ระยะการปรากฏของอาการ หรือระยะ Prodome ซึ่งผู้ป่วยจะเกิดอาการทั่วไปดังที่ระบุด้านล่าง แต่ยังไม่ถึงขั้นมีอาการตัวเหลืองหรือตาเหลือง
  3. ระยะตัวเหลือง/ตาเหลือง ระยะนี้จะเริ่มหลังจากระยะที่สองประมาณ 10 – 15 วัน และต่อจากนั้นก็อาจจะมีไข้อ่อนๆ อีกประมาณ 2-3 วัน ในระยะนี้ ผู้ป่วยมักจะตรวจไม่พบเชื้อในกระแสเลือด แต่ยังสามารถพบเชื้อในอุจจาระและยังสามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้อีกนานถึง 2-3 สัปดาห์
  4. ระยะฟื้นตัว เป็นระยะที่อาการต่างๆ เริ่มทุเลาลงเองและค่อยๆหายขาดไปในที่สุด รวมถึงมีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกายด้วย

อาการที่มักพบในระยะเริ่มแรก ได้แก่

  • มีไข้อ่อน ๆ ไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส
  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เมื่อยเนื้อตัว
  • ปวดศีรษะ ไอ จาม เจ็บคอ
  • ไม่อยากอาหาร
  • ท้องผูก หรือท้องร่วง
  • ปวดแน่นบริเวณชายโครงด้านขวาบน
  • ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อกระดูก
  • มีผื่นลมพิษมีผดผื่นคัน

ส่วนอาการหลังมีการพัฒนาโรคที่รุนแรงขึ้น ได้แก่ อาการคันตามผิวหนัง ตัวเหลือง ตาเหลืองเหมือนภาวะดีซ่าน ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด บริเวณท้องด้านบนขวาบวมและรู้สึกเจ็บเมื่อกดลงไป โดยสัญญาณสำคัญของอาการป่วยขั้นรุนแรงที่แสดงว่าไวรัสได้แพร่กระจายจนส่งผลต่อการทำงานของตับแล้ว คือ ง่วงซึมตลอดวัน จิตใจสับสน ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับความจำและการตั้งสมาธิ มีจ้ำเลือด เลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน รวมถึงอาเจียนอย่างกะทันหันหรืออาเจียนอย่างหนัก หากมีอาการต่างๆ ตามที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที

ภาวะแทรกซ้อนของไวรัสตับอักเสบ เอ

การป่วยด้วยไวรัสตับอักเสบเอ ไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ตับในระยะยาวหรือเรื้อรังเหมือนไวรัสตับอักเสบชนิดอื่นๆ และแม้ว่าการฟื้นตัวของไวรัสตับอักเสบเอจะใช้เวลายาวนาน แต่ส่วนใหญ่จะหายขาดโดยที่ไม่มีภาวะหรือโรคแทรกซ้อนใดๆ อย่างไรก็ตาม หากแพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่า ตับหรือม้ามโตและมีอาการดีซ่าน ประมาณกว่าร้อยละ 10-15 โรคจะกำเริบภายในระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เกิดการอักเสบของตับ โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะตับวาย ตับวายเฉียบพลัน และอาการตัวเหลืองเรื้อรังจากการคั่งของน้ำดีในตับ แต่พบได้น้อยมากเพียงประมาณร้อยละ 0.5 โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงวัยหรือผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับตับอย่างเรื้อรังมาก่อนหน้านี้ ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อควบคุมรักษาอาการไม่ให้โรคพัฒนาร้ายแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ไวรัสตับอักเสบ เอ-2

การติดต่อของโรคไวรัสตับอักเสบ เอ

ไวรัสตับอักเสบเอจะแพร่กระจายผ่านทางทวารหนักและทางปากเป็นหลัก ความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอจึงสัมพันธ์กับการขาดน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ไม่ดี (เช่น มือที่สกปรก) เชื้อไวรัสตับอักเสบเอสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นหรือคนรอบข้างได้จากการสัมผัสทางร่างกายอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ทางน้ำมูก น้ำลาย ในกรณีที่ผู้มีเชื้อไอ จาม หรือพูดคุยรดอาหารที่รับประทานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส โดยเชื้อดังกล่าวจะผ่านเข้าไปในลำไส้และไปเจริญเติบโตในเซลล์ตับ ขับออกมาทางน้ำดีและปนมากับอุจจาระ 

ทั้งนี้ มักมีรายงานการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน การแพร่ระบาดทางน้ำดื่ม

หรือแม้แต่ทางปัสสาวะซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของน้ำเสีย หรือน้ำที่ได้รับการบำบัดไม่ดีพอ 

เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ มีความคงทนต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ในน้ำ และบริเวณที่อับชื้น โดยคงอยู่ได้เป็นเวลาหลายเดือน จึงอาจมีการแพร่กระจายไวรัสตับอักเสบชนิดเอ มาจากผู้ที่ชอบทานหอยดิบๆหรือลวกสุกๆดิบๆ ที่มาจากแหล่งน้ำไม่สะอาด แต่เราสามารถป้องกันหรือทำลายมันได้โดยการต้มน้ำให้เดือดหรือปรุงอาหารด้วยความร้อนที่มากกว่า 85 องศาเซลเซียสขึ้นไป

ระยะฟักตัวของเชื้อโรค

ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการของโรค มีระยะเวลาตั้งแต่ 15 – 50 วัน หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 28 วัน และมักจะเริ่มมีอาการเบื้องต้นปรากฏให้เห็นภายใน 14 – 30 วัน

แนวทางการรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการรักษาไวรัสตับอักเสบเอให้หายได้แบบเด็ดขาด แต่จะเป็นการรักษาตามอาการที่ปรากฏ กล่าวคือ ผู้ป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบเอส่วนใหญ่ จะมีอาการเล็กๆน้อยๆ และหายได้เอง โดยอาการป่วยจะทุเลาลงและค่อยๆฟื้นตัวภายในเวลาประมาณ 2 เดือน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มเติม ทั้งนี้ การรักษามักเป็นเป็นไปเพื่อประคับประคองอาการและป้องกันโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydrated) ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมถึงภาวะเลือดออกและอาการตับวาย

การรักษาตัวในช่วงพักฟื้น สามารถทำได้โดย:

  • รับประทานยาแก้ปวด หากมีอาการปวดหัวหรือปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น พาราเซตามอลและไอบูโพรเฟน แต่หากตับมีความเสียหายจากการอักเสบมาก ควรงดการใช้ยาดังกล่าว
  • เมื่อมีอาการง่วงซึม อ่อนล้า หรือเมื่อยเพลีย ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้นและปรับสภาพ
  • ลดผดผื่นคันตามผิวหนังด้วยการอยู่ในบริเวณที่เย็นสบาย อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น รวมทั้งสวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแห้งหรือเกิดอาการแพ้และระคายเคือง
  • หากมีผดผื่นคันรุนแรง อาจใช้ยาต้านฮิสตามีนเพื่อบรรเทาอาการ
  • รับประทานอาหารอ่อนๆที่ย่อยง่าย เพื่อลดปัญหาอาการคลื่นไส้อาเจียน 
  • ในผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนและท้องร่วงหนัก ควรรับประทานสารละลายเกลือแร่หรือให้น้ำเกลือเข้าร่างกายผ่านทางหลอดเลือดดำ
  • งดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเพิ่มภาระให้ตับ ทำให้ตับทำงานหนักขึ้น และส่งผลต่ออาการอักเสบที่มีอยู่แล้วให้ทรุดลงกว่าเดิม
แผงยา

การใช้ยา

นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว แพทย์อาจใช้ยาบางประเภทเพื่อรักษาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ เช่น ยาอะนัลเจสิค (analgesics) ยาแอนทิเอเมติค (antiemetics) และอิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulins) ส่วนการใช้ยากลุ่มอะเซทามิโนเฟ่นหรือยาแก้ปวดทั่วไปนั้น ถึงแม้จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ แต่ไม่ใช่ยาที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบเอโดยตรง และไม่ควรรับประทานเกิน 4 กรัมต่อวัน

แนวทางป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ

การเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาดปลอดภัยและการสุขาภิบาลที่ดี รวมถึงพฤติกรรมง่ายๆ อย่างการล้างมือให้เคยชินเป็นนิสัย ถือเป็นแนวทางป้องกันไวรัสตับอักเสบเอที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการต่อสู้กับโรคนี้ นอกจากนี้ เรายังสามารถป้องกันการติดหรือแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบเอได้ด้วยมาตรการบางอย่าง เช่น :

  • จัดทำโครงการให้ความรู้ด้านสุขศึกษาให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับสุขาภิบาลและสุขนิสัยส่วนบุคคลที่ดี เช่น การล้างมือหลังจากใช้ส้วมและการกำจัดอุจจาระตามหลักสุขอนามัย
  • จัดให้มีระบบน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาดอย่างทั่วถึงและมีระบบการกำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกวิธี
  • ในสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรมีมาตรการเข้มงวดเพื่อลดโอกาสการติดต่อทางอุจจาระสู่ปาก โดยเน้นให้ล้างมือทุกครั้งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมและก่อนรับประทานอาหาร 
  • สำหรับประชาชนทั่วไป ก่อนรับประทานหอยนางรม หอยกาบ และสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก ที่เก็บจากบริเวณที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบแพร่ระบาด ควรปรุงให้สุกด้วยความร้อนระดับ 85-90 องศาเซลเซียส นาน 2 นาทีขึ้นไป
  • การป้องกันโรคตับอักเสบเอ สามารถใช้วัคซีนเชื้อที่ตายแล้ว โดยเตรียมมาจากการใช้เชื้อไวรัสจากการเพาะเชื้อเนื้อเยื่อให้บริสุทธิ์และทำลายฤทธิ์ด้วยฟอร์มาลิน จะสามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี โดยให้วัคซีน 2 ครั้งห่างกัน 6 เดือน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสามารถป้องกันได้นานประมาณ 20 ปี
  • ให้วัคซีนในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป (ในกรณีเด็กต่ำกว่า 2 ปี วัคซีนจะไปขัดขวางภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่)
  • ผู้ที่จะเดินทางไปในพื้นที่ที่มีความชุก ควรฉีดสารภูมิคุ้มกัน Immunoglobulin หรือวัคซีนป้องกันก่อนเดินทาง ซึ่งจะให้ผลในการป้องกันได้ 4 สัปดาห์หลังฉีด หากต้องอาศัยอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน ควรฉีดซ้ำทุก 4-6 เดือน

ทั้งนี้ การให้วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถให้พร้อมกับวัคซีนอื่นๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี บาดทะยัก วัคซีนป้องกันคอตีบ วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีนอย่างรุนแรงจะพบได้น้อยมาก อาจจะมีเพียงอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือปวดศีรษะหลังฉีดวัคซีนประมาณ 3-5 วัน และอาการดังกล่าวจะหายไปภายในวันสองวัน 

*ไม่ควรให้วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอแก่ผู้ที่มีประวัติเคยแพ้วัคซีน รวมถึงผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคนี้อยู่ (ควรรอให้หายดีก่อน)

เข็มฉีดยา

กลุ่มผู้ที่ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน

  • ผู้ที่อาศัยในบ้านเดียวกันหรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบเอ
  • เจ้าหน้าที่หรือบุคคลากรทางการแพทย์
  • เด็กหรือเจ้าหน้าที่ในศูนย์เลี้ยงเด็ก
  • ผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัด
  • ผู้อพยพที่อาศัยในที่พักชั่วคราว
  • กลุ่มชายรักร่วมเพศ
  • กลุ่มผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาและสารเสพติด
  • โรคเลือดที่ต้องรับการถ่ายเลือดบ่อย
  • ผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง
  • ผู้ที่ทำหน้าที่ปรุงอาหาร
  • ประชาชนที่อาศัยในประเทศที่มีการระบาด
  • นักท่องเที่ยวไปยังถิ่นที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ

การควบคุมผู้ป่วย ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง และสภาพแวดล้อม กรณีที่เกิดการระบาดของโรค

กรณีที่มีมีผู้ป่วยมากกว่า 2 รายขึ้นไปที่มีความสัมพันธ์ทางระบาดวิทยา ต้องหาผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยเน้นในเรื่องวิธีการทำให้พื้นที่รอบข้างปราศจากเชื้อ โดยการ:

  • ดำเนินการสอบสวนทางระบาดวิทยา เพื่อหาวิธีติดต่อไม่ว่าจากคนสู่คนหรือจากพาหะนำโรคอื่นๆ 
  • กำจัดแหล่งแพร่เชื้อที่พบบ่อยทุกแห่งในบริเวณใกล้เคียง
  • เร่งให้วัคซีนป้องกันในเด็กโตที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน รวมถึงกลุ่มเป้าหมายตามกลุ่มอายุและกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราป่วยสูงสุด โดยขึ้นอยู่กับการเฝ้าระวังในพื้นที่ตามระบบเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข
  • ให้วัคซีนป้องกันเมื่อเกิดการระบาดในสถานเลี้ยงเด็กโรงพยาบาล สถาบัน โรงเรียน
  • ปรับปรุงด้านสุขาภิบาลและพฤติกรรมอนามัยเป็นพิเศษเพื่อลดการปนเปื้อนอุจจาระในอาหารและน้ำดื่ม

ไวรัสตับอักเสบเอ ต่างกับไวรัสตับอักเสบบีอย่างไร

ไวรัสตับอักเสบบีเป็นเชื้อโรคที่เกิดจากเลือด โหมดหลักของการแพร่เชื้อ เกิดจากการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยตรง ในทางตรงกันข้าม ไวรัสตับอักเสบเอสามารถแพร่กระจายโดยผ่านทางอุจจาระหรือการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน

นอกจากนี้ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มักจะไม่ค่อยมีอาการใดๆปรากฏออกมา ในขณะที่อาการของผู้ติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบเอ จะปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ

ที่สำคัญ ตับอักเสบจากไวรัสเอ เมื่อเป็นแล้วจะหายเป็นปกติ ไม่เป็นพาหะของโรค ไม่เป็นเรื้อรัง ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้หลังจากฟื้นตัว โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ต่ำมาก เพราะจะไม่ค่อยพบโรคไวรัสตับอักเสบเอแบบเรื้อรัง แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมักจะมีปัญหาเรื่องอาการอ่อนเพลียเป็นระยะเวลานาน

ไวรัสตับอักเสบ เอ-3

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบเอ

  • ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ เกือบทุกคนสามารถฟื้นจากโรคนี้ได้โดยสมบูรณ์ พร้อมด้วยภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ติดเชื้อบางรายเสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบแบบเฉียบพลัน
  • ไวรัสตับอักเสบเอ เป็นสาเหตุเพียง 0.5% ของการเสียชีวิตเนื่องจากโรคไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ
  • ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อจากอาหารและน้ำ ก็ยังคงมีการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมชายรักชาย 
  • การแพร่ระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบเอ สามารถส่งผลกระทบยาวนานและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก
  • ปัจจุบัน มีวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคตับอักเสบเอ โดยร่างกายจะเริ่มเกิดภูมิหลังได้วัคซีนเข็มแรก 4 สัปดาห์และอยู่ได้นานประมาณ 20 ปี
  • โรคไวรัสตับอักเสบเอ จะไม่ติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์

บทความเรื่องตับอื่นๆ ที่น่ารู้

สอบถาม