6 อาหารเพื่อสุขภาพที่เหมาะกับผู้ป่วยไขมันพอกตับ

ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver) เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ตับมีการสะสมไขมันมากเกินปกติ ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนมากจะไม่แสดงอาการเจ็บป่วยออกมา แต่ถ้าหากมีอาการก็มักจะเป็นอาการป่วยที่ไม่สามารถเฉพาะเจาะจงหรือวินิจฉัยขั้นพื้นฐานว่าเป็นโรคไขมันพอกตับได้ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หรือมีความรู้สึกตึงที่บริเวณใต้ชายโครงขวา ทำให้โรคไขมันพอกตับเป็นโรคที่ยากต่อการวินิจฉัย ผู้ป่วยส่วนมากมักจะพบว่าตัวเองเป็นโรคจากการตรวจเลือดหรือตรวจสุขภาพประจำปี

โรคไขมันพอกตับนอกจากการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารก็ช่วยให้อาการป่วยดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน สำหรับอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยไขมันพอกตับนั้นมีมากมาย แต่ในบทความนี้จะแนะนำอาหารที่หาซื้อได้ง่ายในประเทศไทย และสามารถประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู

แนะนำ 6 อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ป่วยไขมันพอกตับ

1. ถั่ว (Beans)

เมนูอาหารจากพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ถั่วชิกพี (Chick Pea) ฯลฯ ไม่ได้เป็นอาหารที่เต็มไปด้วยโภชนาการสูงเท่านั้น เพราะมีงานวิจัยในปี 2019 ของนักวิจัย Alireza Bahrami et al. พบว่าการทานพืชตระกูลถั่วจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคตับแข็งได้ นอกจากนี้แล้วการทานถั่วเหลืองจะช่วยลดลดระดับไตรกลีเซอไรด์พร้อมกับป้องกันการสะสมไขมันของร่างกายอีกด้วย

2. กระเทียม (Garlic)

กระเทียมเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาประกอบอาหาร เพราะช่วยให้อาหารมีรสชาติให้น่าทานมากกว่าเดิม กระเทียมเป็นพืชที่เต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย พร้อมกับคุณประโยชน์อันหลากหลายที่ส่งผลดีต่อร่างกาย และกระเทียมก็เป็นอีกหนึ่งอาหารเพื่อสุขภาพที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับ จากงานวิจัยของ Davood Soleimani et al. พบว่าการทานกระเทียมสามารถลดไขมันในผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับได้

3. ปลา (Fish)

การทานปลาโดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเทราท์ หรือปลาซาบะ ถือว่าเป็นเมนูอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับอย่างมาก เนื่องจากว่าปลาเหล่านี้จะเต็มไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 (omega-3 fatty acids) ในปริมาณที่สูง และกรดไขมันโอเมก้า 3 เหล่านี้สามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และกำจัดไขมันส่วนเกินออกจากตับได้

4. น้ำมันมะกอก (Olive oil)

น้ำมัน (Oil) ถือเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยไขมันพอกตับ เพราะเต็มไปด้วยไขมันอิ่มตัวที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ยกเว้นกับน้ำมันมะกอกที่เป็นน้ำมันธรรมชาติที่ได้จากการสกัดผลมะกอก เพราะมีงานวิจัยของ Shahla Rezaei et al. พบว่าการทานน้ำมันมะกอกนั้นจะช่วยลดความรุนแรงโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (NAFLD) และยังลดไขมันในตับอีกด้วย นอกจากนี้แล้วน้ำมันมะกอกยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลาย เช่น วิตามินอี วิตามินเค โพแทสเซียม เหล็ก โซเดียม ไขมันอิ่มตัว เป็นต้น

5. ผักใบเขียว (Leafy greens)

การรับประทานผักใบเขียว เช่น ผักโขม บร็อคโคลี คะน้า กะหล่ำดาว ฯลฯ อยู่เป็นประจำนอกจากจะช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายแล้ว การทานผักใบเขียวยังช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (NAFLD)

6. กาแฟ (Coffee)

งานวิจัยของ Umar Hayat et al. พบว่าการดื่มกาแฟเป็นประจำวันทุกวันช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (NAFLD) และยังช่วยลดการเกิดพังผืดในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไขมันพอกตับแบบไม่มีแอลกอฮอล์ (NAFLD)

สำหรับเมนูอาหารที่กล่าวถึงข้างต้นของบทความนั้น เป็นเมนูอาหารเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ถ้าหากใครสนใจเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยไขมันพอกตับสามารถสอบถามแพทย์เพิ่มเติมได้

สอบถาม