ปัญหาการนอนไม่หลับสามารถพบได้ทุกเพศ ทุกวัย คนไทยมีปัญหานอนไม่หลับมากถึง 30% ของจำนวนประชากรไทยทั่วประเทศ หรือมีจำนวนประมาณ 20 ล้านคน โดยมีปัญหานอนไม่หลับเรื้อรังสูงถึง 10% ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผลกระทบจากการนอนไม่หลับไม่ได้มีเพียงแค่รู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลียในระหว่างวันเท่านั้น แต่อันตรายจากการนอนไม่หลับมีมากกว่าที่คุณคิด จะมีอะไรบ้างเราไปดูกัน
อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) แบ่งออกเป็นกี่ประเภท?
สำหรับการนอนไม่หลับ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- ประเภทที่ 1 หลับยาก (Initial insomnia) สำหรับคนที่มีอาการหลับยากกว่าจะนอนหลับในแต่ละคืนจะใช้เวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมง
- ประเภทที่ 2 หลับแล้วตื่นกลางดึก (Maintenance insomnia) สำหรับผู้ที่มีอาการหลับแล้วตื่นกลางดึก บางรายอาจจะนอนต่อได้ แต่บางรายอาจจะนอนไม่หลับอีกเลย หรืออาจจะหลับแต่ใช้เวลานาน
- ประเภทที่ 3 หลับๆตื่นๆ (Terminal insomnia) คนที่มีอาการหลับๆตื่นๆ จะรู้สึกเหมือนไม่ได้หลับทั้งคืน เพราะหลับได้ไม่นานก็ต้องตื่นนอนและเป็นแบบนี้ไปตลอดทั้งคืน
สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ (Insomnia)
ปัจจัยภายใน
- ความเครียด
- ความกดดัน ความวิตกกังวล
- นาฬิกาชีวิต (Body Clock) มีหน้าที่ควบคุมการนอนหลับ และการตื่นนอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาซึมเศร้า ยาลดน้ำหนัก ฯลฯ
ปัจจัยภายนอก
- อุณหภูมิ
- เสียงรบกวน
- ความสว่าง
- เครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ ชา ฯลฯ
- การนอนไม่เป็นเวลา
เมื่อนอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อตับอย่างไร?
เมื่อเรามีปัญหานอนไม่หลับระยะยาวส่งผลให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานติดขัด เช่น การทำงานของกระเพาะอาหารมีหน้าที่หลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) หรือฮอร์โมนแห่งความหิว ทำหน้าที่กระตุ้นความอยากอาหาร โดยฮอร์โมนเกรลินจะเข้าสู่กระแสเลือดไปที่สมอง จากนั้นสมองจะสั่งการมาที่ร่างกายทำให้รู้สึกหิว แต่ถ้าเรามีปัญหานอนไม่หลับส่งผลให้กระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ โดยกระเพาะอาหารจะทำการหลั่งฮอร์โมนเกรลินมากกว่าปกติ ทำให้ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับรู้สึกหิวตลอดเวลา ทานมากเท่าไรก็ไม่รู้สึกอิ่มสักที โดยอาหารที่ทานเข้าไปนั้นจะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นไตรกลีเซอไรด์ และไตรกลีเซอไรด์เป็นแหล่งพลังงานของมนุษย์ ถ้าเราไม่ได้ออกกำลังกายหรือใช้พลังงานมากไตรกลีเซอไรด์จะไปสะสมอยู่ในเซลล์ตับ ทำให้เป็นโรคไขมันพอกตับนั่นเอง เมื่อเป็นไขมันพอกตับแล้วไม่รีบรักษา แถมไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการกินก็จะทำให้ตับทำงานหนักจนกลายเป็นตับอักเสบในที่สุด
ปัญหาการนอนหลับของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจจะเกิดจากโรคทางจิตเวช เกิดจากระบบประสาท เกิดจากรูปแบบการดำรงชีวิต หรือเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวผู้ป่วย ดังนั้น การรักษาโรคชนิดนี้จะไม่เหมือนกัน ไม่มีเกณฑ์รักษาตายตัว การรักษาที่ถูกต้องที่สุดและปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยที่สุดควรที่จะพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยรักษาโรคและทำการรักษาให้เหมาะสมต่อตัวผู้ป่วยเอง