ตับ (Liver) คืออะไร ?
ถ้าพูดถึงอวัยวะภายใน ตับถือเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญที่สุดพอๆกับหัวใจเลยทีเดียว แถมมันยังมีขนาดใหญ่กว่าอีกด้วย ที่จริงแล้วตับถือเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย เพียงแต่มันทำหน้าที่แตกต่างจากหัวใจเท่านั้น
แต่ก็มีส่วนเชื่อมโยงกับระบบประสาทของเราอย่างซับซ้อน และในแต่ละนาทีที่ผ่านไป หัวใจต้องสูบฉีดเลือดประมาณ 1 ใน 4 เพื่อส่งไปหล่อเลี้ยงการทำงานของตับ คิดเป็นจำนวนเลือดที่ไหลผ่านมากถึงปริมาณ 1,500 – 1,800 ลิตรต่อวัน หากเปรียบเป็นรถยนต์ ก็ถือได้ว่าเป็นรถที่กินน้ำมันและทำงานหนักมากที่สุด โดยไม่มีเวลาหยุดพักเลย
ถ้าใครเคยลองสังเกตดู จะเห็นได้ว่า มีบรรดานักมวยบนสังเวียนจำนวนมากที่ต้องล้มทรุดลงกับพื้นเวที เมื่อถูกชกเข้าที่บริเวณชายโครงขวา ใต้กระบังลม ซึ่งเป็นที่อยู่ของตับนั่นเอง และไม่ว่าจะพยายามมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถกลับมายืนขึ้นได้อีก
ลักษณะของตับ
ตับที่อยู่ในสภาวะปกติทั่วไป จะมีลักษณะนุ่ม สีชมพูอมน้ำตาล แน่นอนว่า ขนาดของตับขึ้นอยู่กับขนาดร่างกายของแต่ละคนด้วย แต่โดยเฉลี่ยแล้ว มันมีความยาวโดยรวมประมาณ 6-7 นิ้ว โดยแบ่งออกเป็น 4 พู (คล้ายๆ พูทุเรียน) คือ หากมองจากด้านหน้า จะเห็นเป็นพูซ้ายและพูขวา แต่หากมองจากด้านหลัง จะเห็นเป็นพูบนและพูล่าง
โดยแต่ละพูถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยร่องที่เป็นทางผ่านของบรรดาหลอดเลือดและท่อน้ำดี พื้นผิวของตับเกือบทั้งหมดจะมีเยื่อบุช่องท้องห่อหุ้มอยู่ 2 ชั้น ซึ่งช่วยในการลดแรงเสียดสีกับอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะอาหาร กระบังลม และถุงน้ำดี
อวัยวะหนึ่งที่มักถูกกล่าวถึงควบคู่กับตับ คือ ตับอ่อน ซึ่งอยู่ระหว่างลำไส้เล็กส่วนต้นและด้านหลังกระเพาะอาหาร โดยมีท่อเปิดไปยังลำไส้เล็กร่วมกับท่อจากถุงน้ำดีและตับ
ตับทำหน้าที่อะไร ?
ในแง่ของระบบการทำงาน ตับมีกลไกการทำงานที่ซับซ้อนสุดๆ รองจากสมองของคนเราเลยก็ว่าได้ หน้าที่ต่างๆ ของตับจะอาศัยการทำงานของเซลล์ตับเป็นหลัก โดยมีกลไกเสมือนโรงงานที่ช่วยเหลือระบบการผลิต ซ่อม ควบคุม กักตุน และขับถ่ายได้ภายในอวัยวะเดียว ตับจึงเป็นอวัยวะที่มีความน่าสนใจและเราควรเรียนรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของมันเอาไว้ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ของเราเอง
หน้าที่ของตับในแต่ละด้านมีดังนี้
ผลิต
- น้ำดีและเกลือน้ำดีเพื่อช่วยย่อยสลายไขมัน
- พลังงานให้ร่างกาย โดยย่อยสลายสารอาหารเพื่อส่งไปบำรุงเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- สารบางอย่างที่มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย เช่น สารอัลบูมิน (albumin) ซึ่งมีลักษณะคล้ายไข่ขาว ช่วยอุ้มน้ำให้อยู่ในหลอดเลือด หากอัลบูมินในเลือดต่ำจะทำให้เกิดอาการบวมเท้าหรือท้องมาน เป็นต้น
- เม็ดเลือดแดงสำหรับตัวอ่อนทารกในครรภ์มารดา (จนถึงสัปดาห์ที่ 32)
นอกจากนี้ ยังมีตับอ่อนที่ช่วยในการผลิตน้ำย่อยเพื่อย่อยสารอาหารประเภทโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต รวมถึงหลั่งสารอินซูลินเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย
ซ่อม
ตัวอย่างเช่น เมื่อเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพเนื่องจากอาการของโรคเบาหวาน ตับสามารถช่วยฟื้นฟูเซลล์ตับอ่อนให้กลับมาทำงานเป็นปกติ เราจึงสามารถจัดการกับโรคเบาหวานได้ หากมีตับที่แข็งแรงและทำงานได้อย่างสมบูรณ์
ควบคุม
- ระบบเมทาบอลิซึมหรือระบบเผาผลาญพลังงาน รวมถึงการสังเคราะห์ไขมันบางจำพวกในร่างกาย
- ระบบการลำเลียงสารอาหารที่ย่อยแล้วจากลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือดอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นระบบที่มีความสำคัญที่สุดต่อการมีสุขภาพที่ดี
กักตุน
- พลังงานสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น เช่น เมื่อร่างกายประสบภัยฉุกเฉิน
- วิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามิน B12 เหล็ก และทองแดง เผื่อไว้ให้ร่างกายดึงสารอาหารเหล่านั้นมาใช้ได้ในกิจกรรมต่างๆ
ขับถ่าย
- ขยะต่างๆ ในร่างกาย เช่น สารเคมีตกค้าง สารสังเคราะห์ในยารักษาโรค และโลหะหนัก
- แอมโมเนีย หรือสารพิษที่เกิดจากการย่อยสลายอาหารโปรตีน โดยตับจะแปรเปลี่ยนแอมโมเนียให้เป็นยูเรียและส่งผ่านไต กลายเป็นน้ำปัสสาวะทิ้งไป
- ฮอร์โมนที่หมดอายุขัยหรือร่างกายผลิตออกมามากเกินความจำเป็น ตับก็จะจัดการเก็บมาขับถ่ายทิ้งไป
ความเชื่อมโยงของตับกับระบบต่างๆในร่างกาย
นอกจากระบบประสาทอันสลับซับซ้อนแล้ว ตับยังทำงานเชื่อมโยงกับระบบย่อยอาหาร ระบบเผาผลาญพลังงาน ระบบไขข้อ เส้นเอ็น กระดูก และระบบอื่นๆอีกมากมายในร่างกายของเรา ทั้งนี้ หากตับเสื่อมสมรรถภาพ จะปรากฏอาการต่างๆ ดังนี้
- เส้นเอ็นขาด
- ปวดไหล่ ไหล่ติด เอาแขนไพล่หลังไม่ได้
- ปวดเข่า ข้อเข่าบวม
- กำมือไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่สะดวก
- เบื่ออาหาร ไม่อยากอาหาร
- มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ปวดท้อง จุกแน่นบริเวณชายโครงด้านขวา
โรคที่เกี่ยวข้องกับตับ
นอกจากโรคตับอักเสบและไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ รวมถึงโรคตับโต ตับแข็ง ไขมันพอกตับ และมะเร็งตับ ซึ่งเราจะกล่าวถึงในบทความแยกต่างหากแล้ว ยังมีอีกหลายโรคที่เกี่ยวข้องหรือเกิดจากการเสื่อมสภาพของตับและ/หรือตับอ่อน ได้แก่
- ไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Picornavirus มีการติดเชื้อเฉพาะในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ จะมีภูมิคุ้มกันอยู่ตลอดชีวิตและจะไม่เป็นโรคนี้อีก (ในทำนองเดียวกับโรคอีสุกอีไส)
- ไวรัสตับอักเสบบี เชื้อไวรัสชนิดนี้จะบุกรุกเข้าสู่เซลล์ตับและก่อให้เกิดการอักเสบขึ้น ในบางกรณีเชื้ออาจจะอยู่นิ่งเป็นปีๆ โดยผู้ที่มีเชื้อไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้ออยู่ในร่างกาย จึงมีผู้ป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นอัตราส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอื่น
- ไวรัสตับอักเสบซี เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบได้ประมาณ 1-2% ของคนที่มาบริจาคเลือด หลังเป็นตับอักเสบชนิดนีแล้ว มักมีแนวโน้มจะเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และบางส่วนพัฒนากลายไปเป็นโรคมะเร็งตับ
- ไวรัสตับอักเสบดี ไวรัสชนิดนี้มักจะมาพร้อมกับไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยจะมีอาการของตับอักเสบที่รุนแรงและมีโอกาสที่เป็นตับวายเสียชีวิตได้
- ไวรัสตับอักเสบอี ผู้ป่วยจากไวรัสชนิดนี้จะเกิดอาการหลังได้รับเชื้อตั้งแต่ 15-60 วันขึ้นไป โดยจะมีลักษณะอาการเหมือนกับอักเสบที่เกิดจากเชื้อชนิดอื่น เช่น ปวดท้อง ตัวเหลือง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน โรคนี้มักจะหายได้เองใน 4-6 สัปดาห์ แต่ก็อาจจะรุนแรงถึงขั้นตับวายจนเสียชีวิต
- โรคตับโต ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด สิ่งเหล่านี้มิใช่อาการทั่วไปของภาวะตับโตเท่านั้น แต่มันอาจเป็นสัญญาณของโรคตับ ซึ่งหากเป็นรุนแรง เรื้อรัง หรือกะทันหัน จะทำให้ตับบวม
- โรคตับแข็ง เรามักจะได้ยินกันว่า โรคนี้เกิดจากการดื่มสุราเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว โรคตับแข็งยังอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่ไม่ดื่มสุราเช่นกัน (Nonalcoholic Steatohepatitis – NASH) โดยเกิดจากการที่ร่างกายสร้างไขมันในตับเพิ่มขึ้น ทำให้ไขมันพอกจนกลายเป็นตับแข็ง
- โรคไขมันพอกตับ เช่นเดียวกับโรคตับแข็ง สาเหตุของการเกิดโรคชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ที่ชอบดื่มและไม่ดื่มสุรา มีการประเมินว่าสามารถพบโรคไขมันพอกตับได้ร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่เสี่ยงมาก คือ กลุ่มคนอ้วนและผู้ที่เป็นเบาหวาน
- โรคมะเร็งตับ ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งตับมักมีอาการของโรคเหมือนกับมะเร็งระบบอื่นๆ อาการต่างๆที่พบได้ คือ ตาเหลือง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ปวดท้องตลอดเวลา คลำพบก้อนที่บริเวณตับ โดย อาการของผู้ป่วยมักจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว
- โรคท้องมาน เป็นความผิดปกติของร่างกายจากภาวะมีน้ำขังอยู่ในช่องท้องปริมาณมาก มักเกิดจากการที่ร่างกายขาดสารอัลบูมิน ซึ่งเป็นภาวะที่มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสมรรถภาพของตับนั่นเอง
- โรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นภาวะการเกิดก้อนเนื้อร้ายที่ท่อทางเดินน้ำดี สาเหตุยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ในทางการแพทย์มีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานของตับ โดยจำแนกเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับและมะเร็งท่อน้ำดีนอกตับ
- โรคนิ่วที่ถุงน้ำดี คือ การเกิดก้อนนิ่วขนาดเล็กจำนวนมากที่ถุงน้ำดี ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำงานร่วมกับตับโดยตรง
- โรคเบาหวาน เกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายต่ำผิดปกติ ทำให้เกิดน้ำตาลสะสมในเลือดสูง ซึ่งแหล่งผลิดฮอโมนชนิดนี้คือ ตับอ่อน
- โรคตับวายหรือภาวะตับล้มเหลว ทำให้ตับไม่ทำงานและส่งผลให้อวัยวะอื่นๆแปรปรวนตามไปด้วย โดยอาจเกิดจากการประสบอุบัติเหตุหรือเกิดการกระแทกอย่างรุนแรงที่ตับ ทำให้เซลล์ตับบาดเจ็บ รวมถึงการเป็นโรคตับแข็งหรือมีการติดเชื้อโรคที่ตับ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ
- โรคพยาธิใบไม้ในตับ เกิดจากการอาศัยและเจริญเติบโตของพยาธิใบไม้ในตับในร่างกายคนเรา ซึ่งการปรากฏของอาการของโรค จะขึ้นอยู่กับความอักเสบของตับว่ามากน้อยเพียงใด
เทคนิคการบำรุงตับ
การบำรุงตับต้องอาศัยโภชนาการที่สมดุลและเพียงพอ ด้วยการบริโภคอาหารที่ไม่ปรุงแต่งหรือมีความเป็นธรรมชาติ (ออร์แกนิค) ให้มากที่สุด โดยเฉพาะอาหารที่มีสารแอนตี้อ็อกซิแดนท์ ซึ่งสามารถทำลายอนุมูลอิสระ ช่วยในการกำจัดสารตกค้าง และป้องกันเซลล์ตับจากสารพิษ
เรายังขอแนะนำให้ทานอาหารหรืออาหารเสริมที่มีวิตามินซี ซึ่งสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันและช่วยลดความรุนแรงจากการที่ตับถูกทำลายเนื่องจากได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย และวิตามินอี ซึ่งจะช่วยต้านการเพิ่มออกซิเจนในไขมัน ช่วยป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลาย ถือเป็นวิตามินที่ช่วยปกป้องเยื่อบุผนังเซลล์ตับได้ดีที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีสารอาหารประเภทอื่นๆ ที่สามารถช่วยกำจัดสารพิษและไขมันออกจากตับ เช่น กรดโฟลิค
ไบโอติน อินโนซิทอล และเลซิติน เป็นต้น จะเห็นได้ว่า หลักๆ แล้ว ตับของคนเราต้องการทั้งเกลือแร่และวิตามิน รวมถึงโปรตีนที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้การทำงานของตับดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพยืนยาวที่สุด
เทคนิคทางกายภาพ
- ใช้ฝ่ามือคลึงวนไปมา พร้อมออกแรงกดเบาๆ บริเวณใต้ชายโครงด้านขวา
- ใช้นิ้วโป้งลูบคลึงขึ้นลงๆ บริเวณกึ่งกลางของแนวขาด้านใน
- นวดๆคลึงๆ บริเวณร่องบุ๋มระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ของเท้าทั้ง 2 ข้าง
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับตับ
- ตับจัดเป็น ‘ต่อม’ ประเภทหนึ่ง ในบรรดาต่อมแต่ละแห่งในร่างกาย
- ถ้าจะให้นับจริงๆแล้ว หน้าที่ของตับมีมากกว่า ‘500’ รายการ
- การทำงานบางอย่างของสมอง ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของตับ
- ตับเป็นเพียงอวัยวะเดียวในร่างกายที่สามารถ ‘ฟื้นฟู’ ตัวมันเองได้
- ในสังคมปัจจุบันนี้ สิ่งที่เป็นภัยต่อตับมากที่สุด คือ ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’
อย่าลืมว่า ถึงแม้ตับจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่ร่างกายต้องอยู่ในสภาวะที่สมบูรณ์และปราศจากโรคที่เกี่ยวข้องกับตับ ซึ่งการที่จะมีสภาวะสุขภาพที่ดีดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสไตล์การใช้ชีวิตและทางเลือกในการบริโภคอาหารของคุณเองด้วย